ขออนุญาตฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริง

ขออนุญาตฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริง
ในคดีที่ศาลอุทธรณ์พิพากษายืนหรือเพียงแต่แก้ไขเล็กน้อย และให้ลงโทษจำคุกจำเลยไม่เกินห้าปีห้ามมิให้คู่ความฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริง แต่คู่ความอาจยื่นคำร้องขอให้ผู้พิพากษาคนใดซึ่งพิจารณาหรือลงชื่อในคำพิพากษาหรือทำความเห็นแย้งในศาลชั้นต้นหรือศาลอุทธรณ์อนุญาตให้ฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริงได้ ในคดีนี้จำเลยระบุชื่อขอให้ผู้พิพากษา 3 คนอนุญาต แต่ผู้พิพากษาที่ลงชื่ออนุญาตไม่ใช่ผู้พิพากษาที่ถูกระบุในคำร้องเป็นผู้มีคำสั่ง จึงเป็นการไม่ชอบไม่มีผลทำให้ฎีกาของจำเลยขึ้นมาสู่การพิจารณาของศาลฎีกาได้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5425/2552

ขั้นตอนในการขออนุญาตฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริงตาม ป.วิ.อ. มาตรา 221 มิได้มีบัญญัติไว้โดยเฉพาะ จึงต้องนำบทบัญญัติแห่ง ป.วิ.พ. มาตรา 248 วรรคท้าย มาใช้บังคับโดยอนุโลมตาม ป.วิ.อ. มาตรา 15 กล่าวคือ จำเลยต้องยื่นคำร้องพร้อมคำฟ้องฎีกาต่อศาลชั้นต้นขอให้ผู้พิพากษาคนใดซึ่งพิจารณาหรือลงชื่อในคำพิพากษาหรือทำความเห็นแย้งในศาลชั้นต้นหรือศาลอุทธรณ์อนุญาตให้จำเลยฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริงได้ ซึ่งตามคำร้องจำเลยระบุชื่อขอให้ พ. ช. และ ป. ผู้พิพากษาซึ่งลงชื่อในคำพิพากษาศาลอุทธรณ์เท่านั้นเป็นผู้พิจารณาอนุญาตให้ฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริง โดยมิได้ระบุถึงผู้พิพากษาอื่นในศาลชั้นต้นด้วย การที่นาย ส. ผู้พิพากษาที่ลงชื่อในคำพิพากษาศาลชั้นต้นซึ่งมิใช่ผู้พิพากษาที่จำเลยระบุในคำร้องกลับเป็นผู้มีคำสั่งอนุญาตให้ฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริงเสียเองจึงเป็นการไม่ชอบ ไม่มีผลทำให้ฎีกาของจำเลยขึ้นมาสู่การพิจารณาของศาลฎีกาได้ คำสั่งของศาลชั้นต้นที่รับฎีกาของจำเลยจึงไม่ชอบด้วยกฎหมาย ปัญหาดังกล่าวเป็นปัญหาข้อกฎหมายที่เกี่ยวกับการไม่ปฎิบัติตามบทบัญญัติแห่ง ป.วิ.อ. อันว่าด้วยฎีกา ศาลฎีกายกขึ้นอ้างและแก้ไขให้ถูกต้องได้ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 195 วรรคสอง ประกอบมาตรา 225 โดยเพิกถอนคำสั่งและส่งคำร้องคืนไปให้ศาลชั้นต้นส่งให้ผู้พิพากษาที่ระบุในคำร้องพิจารณาว่าจะอนุญาตหรือไม่อนุญาตให้ฎีกาแล้วสั่งฎีกาใหม่

โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 326, 328
จำเลยให้การปฎิเสธ
ระหว่างพิจารณา นางสาวแสงอรุณ ผู้เสียหาย ยื่นคำร้องขอเข้าร่วมเป็นโจทก์ ศาลชั้นต้นมีคำสั่งอนุญาต

ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 328 พิเคราะห์พฤติการณ์แห่งคดี ประกอบกับการกระทำของจำเลยไม่ก่อให้เกิดความเสียหายร้ายแรงมากนัก และไม่ปรากฎว่าจำเลยเคยกระทำความผิดมาก่อน เห็นสมควรลงโทษสถานเบา ให้จำคุก 1 เดือน และปรับ 4,000 บาท โทษจำคุกให้รอการลงโทษไว้มีกำหนด 1 ปี ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 56 หากจำเลยไม่ชำระค่าปรับให้จัดการตามประมาลกฎหมายอาญา มาตรา 29, 30
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน

จำเลยฎีกาโดยผู้พิพากษาซึ่งพิจารณาและลงชื่อในคำพิพากษาศาลชั้นต้นอนุญาตให้ฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริง

ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า คดีนี้ศาลชั้นต้นพิพากษาลงโทษจำเลย จำคุก 1 เดือน และปรับ 4,000 บาท โทษจำคุกให้รอการลงโทษไว้มีกำหนด 1 ปี ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน จึงต้องห้ามฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริงตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 218 วรรคหนึ่ง จำเลยฎีกาอันเป็นฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริงต้องห้ามตามบทบัญญัติแห่งกฎหมายดังกล่าว เว้นแต่ผู้พิพากษาคนใดซึ่งพิจารณาหรือลงชื่อในคำพิพากษาหรือทำความเห็นแย้งในศาลชั้นต้นหรือศาลอุทธรณ์พิเคราะห์เห็นว่าข้อความที่ตัดสินนั้นเป็นปัญหาสำคัญอันควรสู่ศาลสูงสุดและอนุญาตให้ฎีกา หรืออธิบดีกรมอัยการลงลายมือชื่อรับรองในฎีกาว่ามีเหตุอันควรที่ศาลสูงสุดจะได้วินิจฉัย ก็ให้รับฎีกานั้นไว้พิจารณาต่อไปตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 221 ซึ่งขั้นตอนในการขออนุญาตฎีกาตามบทบัญญัติมาตรานี้ มิได้มีบัญญัติไว้โดยเฉพาะในประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญาจึงต้องนำบทบัญญัติแห่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 248 วรรคท้าย มาใช้บังคับโดยอนุโลมตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 15 กล่าวคือ จำเลยต้องยื่นคำร้องพร้อมคำฟ้องฎีกาต่อศาลชั้นต้นขอให้ผู้พิพากษาคนใดซึ่งพิจารณาหรือลงชื่อในคำพิพากษาหรือทำความเห็นแย้งในศาลชั้นต้นหรือศาลอุทธรณ์อนุญาตให้จำเลยฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริงได้ ซึ่งตามคำร้องฉบับลงวันที่ 18 พฤษภาคม 2548 จำเลยระบุชื่อขอให้นางพัชรวรรณ นายชูเกียรติ และนายประเสริฐ ผู้พิพากษาซึ่งลงชื่อในคำพิพากษาศาลอุทธรณ์เท่านั้นเป็นผู้พิจารณาอนุญาตให้ฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริง โดยมิได้ระบุถึงผู้พิพากษาอื่นในศาลชั้นต้นด้วย การที่ นายสุชาติ ผู้พิพากษาที่ลงชื่อในคำพิพากษาศาลชั้นต้นซึ่งมิใช่ผู้พิพากษาที่จำเลยระบุในคำร้องกลับเป็นผู้มีคำสั่งอนุญาตให้ฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริงเสียเองจึงเป็นการไม่ชอบไม่มีผลทำให้ฎีกาของจำเลยขึ้นมาสู่การพิจารณาของศาลฎีกาได้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 221 คำสั่งของศาลชั้นต้นที่รับฎีกาของจำเลยจึงไม่ชอบด้วยกฎหมาย ปัญหาดังกล่าวเป็นปัญหาข้อกฎหมายที่เกี่ยวกับการไม่ปฎิบัติตามบทบัญญัติแห่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญาอันว่าด้วยฎีกา ศาลฎีกายกขึ้นอ้างและแก้ไขให้ถูกต้องได้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 195 วรรคสอง ประกอบมาตรา 225

จึงมีคำสั่งให้เพิกถอนคำสั่งศาลชั้นต้นที่อนุญาตให้จำเลยฎีกาในปัญหาข้อเท็จและเพิกถอนคำสั่งศาลชั้นต้นที่รับฎีกาของจำเลย ให้ศาลชั้นต้นดำเนินการจัดส่งคำร้องของจำเลย ฉบับลงวันที่ 18 พฤษภาคม 2548 ไปให้ผู้พิพากษาที่จำเลยระบุในคำร้องพิจารณาและมีคำสั่งเกี่ยวกับฎีกาของจำเลย หากมีการอนุญาตหรือไม่อนุญาตประการใดก็ให้ศาลชั้นต้นดำเนินการต่อไป ในชั้นนี้ให้จำหน่ายคดีออกจากสารบบความศาลฎีกา.

( วิรัช ชินวินิจกุล - สุทัศน์ ศิริมหาพฤกษ์ - ศิริชัย สวัสดิ์มงคล )
ศาลอาญา - นางสาววิภา ลีลาวิวัฒน์
ศาลอุทธรณ์ - นางพัชรวรรณ สวัสดิทัต
ป.วิ.อ. มาตรา 15, 195 วรรคสอง, 218, 221, 225
ป.วิ.พ. มาตรา 248

ทนายความประชาชน
ชมรมปรึกษาคดีฟรี ทั่วประเทศฯ (ช ป.ท.)
hello! I am an admin of the People's Lawyer - Free Legal Consultation Club Nationwide (Chor.Por.T.A.) giving advice - like a relative - free of charge, call or add Line 089 214 2456
สวัสดี! ฉันเป็นแอดมินของทนายอาสา - ชมรมปรึกษาคดีฟรีทั่วประเทศฯ (ช.ป.ท.) ให้คำปรึกษา- ดุจญาติมิตร - ไม่คิดค่าใช้จ่าย โทร.หรือ แอดไลน์ 089 214 2456


X
ติดตั้ง แอพพลิเคชั่น บนมือถือ

🌈👉ติดตั้ง แอปพลิเคชัน👈🌈

💖⚖️“ (ทนายความประชาชน) ”⚖️💖

https://play.google.com/store/apps/

X
ติดตั้ง แอพพลิเคชั่น บนมือถือ