คำสั่งศาลที่ไม่รับอุทธรณ์คำสั่งไม่ชอบ

การยื่นอุทธรณ์ของจำเลยฉบับวันที่ 21 สิงหาคม 2549 เป็นเรื่องเจ้าพนักงานบังคับคดีส่งประกาศการขายทอดตลาดไม่ชอบด้วยกฎหมาย ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 296 วรรคสอง ซึ่งในเรื่องนี้กฎหมายไม่ได้บัญญัติไว้ว่าคำสั่งของศาลเป็นที่สุด การที่ศาลชั้นต้นมีคำสั่งไม่รับอุทธรณ์คำสั่งของจำเลยฉบับวันที่ 21 สิงหาคม 2549 จึงไม่ชอบ


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 10694/2551


คำร้องขอให้เพิกถอนการขายทอดตลาดของจำเลยที่ 2 มีประเด็นวินิจฉัย 2 ประเด็น คือ เจ้าพนักงานบังคับคดีส่งประกาศการขายทอดตลาดให้แก่จำเลยที่ 2 โดยชอบหรือไม่ และเจ้าพนักงานบังคับคดีทำการขายทอดตลาดในราคาที่ต่ำเกินสมควรหรือไม่ ซึ่งศาลชั้นต้นได้วินิจฉัยทั้งสองประเด็นและมีคำสั่งให้ยกคำร้อง จำเลยที่ 2 ยื่นอุทธรณ์คำสั่งฉบับลงวันที่ 21 สิงหาคม 2549 เฉพาะประเด็นเจ้าพนักงานบังคับคดีส่งประกาศการขายทอดตลาดโดยมิชอบด้วยกฎหมายเท่านั้น อุทธรณ์คำสั่งของจำเลยที่ 2 มิใช่ประเด็นที่ร้องขอให้เพิกถอนการขายทอดตลาดโดยอาศัยเหตุตาม ป.วิ.พ. มาตรา 309 ทวิ วรรคสอง แต่เป็นประเด็นที่ร้องขอให้เพิกถอนการขายทอดตลาดโดยอาศัยเหตุอื่นตาม ป.วิ.พ. มาตรา 296 วรรคสอง ซึ่งไม่อยู่ในบังคับของ มาตรา 309 ทวิ และไม่มีกฎหมายบัญญัติให้คำสั่งศาลชั้นต้นตามมาตรา 296 วรรคสอง เป็นที่สุดการที่ศาลชั้นต้นมีคำสั่งไม่รับอุทธรณ์คำสั่งของจำเลยที่ 2 ฉบับวันที่ 21 สิงหาคม 2549 และศาลอุทธรณ์ภาค 4 มีคำสั่งให้ยกคำร้องอุทธรณ์คำสั่งไม่รับอุทธรณ์ของจำเลยที่ 2 จึงไม่ชอบ

คดีสืบเนื่องมาจากศาลชั้นต้นพิพากษาตามยอมให้จำเลยทั้งสองร่วมกันชำระเงินจำนวน 356,665.14 บาท พร้อมด้วยดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 13.5 ต่อปี ของต้นเงินจำนวน 325,400 บาท นับแต่วันถัดจากวันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจำเลยทั้งสองจะชำระหนี้แก่โจทก์เสร็จสิ้น โดยจำเลยทั้งสองจะนำเงินไปชำระ ณ ที่ทำการโจทก์และจะผ่อนชำระเป็นงวดรายเดือนทุก ๆ วันที่ 10 ของเดือนติดต่อกันไปเดือนละไม่น้อยกว่า 4,600 บาท เริ่มชำระงวดแรกในวันที่ 10 ธันวาคม 2542 และจำเลยทั้งสองจะชำระให้เสร็จสิ้นภายในกำหนด 2 ปี นับแต่วันที่ 10 ธันวาคม 2542 และให้จำเลยทั้งสองร่วมกันชำระค่าฤชาธรรมเนียมในส่วนที่ศาลไม่สั่งคืนแก่โจทก์และค่าทนายความเป็นเงินจำนวน 2,500 บาท โดยจะนำเงินไปชำระ ณ ที่ทำการโจทก์ภายในวันที่ 31 ธันวาคม 2542 หากจำเลยทั้งสองผิดนัดไม่ชำระหนี้แก่โจทก์งวดใดงวดหนึ่งให้ถือว่าผิดนัดทั้งหมดยินยอมให้โจทก์บังคับคดีได้ทันที หากขายทอดตลาดทรัพย์จำนองได้เงินไม่พอชำระหนี้ยินยอมให้โจทก์ยึดทรัพย์สินอื่นของจำเลยทั้งสองออกขายทอดตลาดเอาเงินมาชำระหนี้ให้แก่โจทก์จนครบถ้วน ต่อมาจำเลยทั้งสองไม่ชำระหนี้ตามคำพิพากษาตามยอม โจทก์นำเจ้าพนักงานบังคับคดีทำการยึดที่ดินของจำเลยที่ 2 ตามโฉนดเลขที่ 40934 ตำบลท่าสองคอน อำเภอเมืองมหาสารคาม จังหวัดมหาสารคาม ออกขายทอดตลาดนำเงินมาชำระหนี้ให้แก่โจทก์
จำเลยที่ 2 ยื่นคำร้องขอให้เพิกถอนการขายทอดตลาด
ผู้ซื้อทรัพย์ยื่นคำคัดค้านขอให้ยกคำร้อง

ศาลชั้นต้นไต่สวนแล้วมีคำสั่งให้ยกคำร้อง ค่าคำร้องให้เป็นพับ

จำเลยที่ 2 อุทธรณ์คำสั่ง ศาลชั้นต้นมีคำสั่งให้รับอุทธรณ์คำสั่ง ต่อมาศาลชั้นต้นมีคำสั่งว่า ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 309 ทวิ วรรคท้าย บัญญัติว่า คำสั่งของศาลชั้นต้นเป็นที่สุด คำสั่งรับอุทธรณ์จึงเป็นคำสั่งโดยผิดหลงอาศัยอำนาจตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 27 จึงให้เพิกถอนคำสั่งรับอุทธรณ์ และมีคำสั่งใหม่ว่า คำสั่งของศาลชั้นต้นเป็นที่สุดแล้วตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 309 ทวิ วรรคท้าย จึงไม่รับอุทธรณ์คำสั่ง

จำเลยที่ 2 ยื่นคำร้องอุทธรณ์คำสั่งไม่รับอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 4 มีคำสั่งให้ยกคำร้อง ค่าคำร้องให้เป็นพับ

จำเลยที่ 2 ฎีกาคำสั่ง ศาลชั้นต้นมีคำสั่งว่า ศาลอุทธรณ์ภาค 4 มีคำสั่งยืนตามคำปฏิเสธของศาลชั้นต้นให้ยกคำร้อง คำสั่งของศาลอุทธรณ์ภาค 4 เป็นที่สุดตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 236 จึงไม่รับฎีกาของจำเลยที่ 2

จำเลยที่ 2 ยื่นคำร้องอุทธรณ์คำสั่งไม่รับฎีกา
ศาลฎีกามีคำสั่งให้รับฎีกาของจำเลยที่ 2 ไว้พิจารณาโดยให้ศาลชั้นต้นดำเนินการต่อไป

ศาลชั้นต้นมีคำสั่งให้รับฎีกาของจำเลยที่ 2 ฉบับลงวันที่ 18 มกราคม 2550 ไว้พิจารณา

ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า คดีมีปัญหาที่จะต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยที่ 2 ว่า การที่ศาลชั้นต้นมีคำสั่งไม่รับอุทธรณ์คำสั่งของจำเลยที่ 2 ฉบับลงวันที่ 21 สิงหาคม 2549 และศาลอุทธรณ์ภาค 4 มีคำสั่งให้ยกคำร้องอุทธรณ์คำสั่งไม่รับอุทธรณ์ของจำเลยที่ 2 นั้น ชอบหรือไม่ เห็นว่า จำเลยที่ 2 ยื่นคำร้องขอให้เพิกถอนการขายทอดตลาดโดยอ้างว่าเจ้าพนักงานบังคับคดีส่งประกาศการขายทอดตลาดโดยมิชอบด้วยกฎหมาย จำเลยที่ 2 จึงไม่ทราบกำหนดวันนัดขายทอดตลาด และเจ้าพนักงานบังคับคดีทำการขายทอดตลาดในราคาที่ต่ำเกินสมควรอันเกิดจากการคบคิดกันฉ้อฉลในระหว่างผู้ที่เกี่ยวข้องในการสู้ราคากับเจ้าพนักงานบังคับคดีหรือเกิดจากความประมาทเลินเล่ออย่างร้ายแรงของเจ้าพนักงานบังคับคดีในการปฏิบัติหน้าที่นั้น ตามคำร้องดังกล่าวมีประเด็นให้ศาลชั้นต้นวินิจฉัย 2 ประเด็น คือ เจ้าพนักงานบังคับคดีส่งประกาศการขายทอดตลาดให้แก่จำเลยที่ 2 โดยชอบหรือไม่ และเจ้าพนักงานบังคับคดีทำการขายทอดตลาดในราคาที่ต่ำเกินสมควรหรือไม่จะเห็นได้ว่า อุทธรณ์คำสั่งของจำเลยที่ 2 ในประเด็นดังกล่าวมิใช่ประเด็นที่ร้องขอให้เพิกถอนการขายทอดตลาดโดยอาศัยเหตุตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 309 ทวิ วรรคสอง แต่เป็นประเด็นที่ร้องขอให้เพิกถอนการขายทอดตลาดโดยอาศัยเหตุอื่นตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 296 วรรคสอง ซึ่งไม่อยู่ในบังคับของประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 309 ทวิ และไม่มีกฎหมายบัญญัติให้คำสั่งศาลชั้นต้นตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 296 วรรคสอง เป็นที่สุด การที่ศาลชั้นต้นมีคำสั่งไม่รับอุทธรณ์คำสั่งของจำเลยที่ 2 ฉบับลงวันที่ 21 สิงหาคม 2549 และศาลอุทธรณ์ภาค 4 มีคำสั่งให้ยกคำร้องอุทธรณ์คำสั่งไม่รับอุทธรณ์ของจำเลยที่ 2 นั้น จึงไม่ชอบ ฎีกาของจำเลยที่ 2 ฟังขึ้น

พิพากษายกคำสั่งศาลชั้นต้น คำสั่งศาลอุทธรณ์ภาค 4 ให้รับอุทธรณ์คำสั่งของจำเลยที่ 2 ฉบับ ลงวันที่ 2 ฉบับลงวันที่ 21 สิงหาคม 2549 ไว้พิจารณาโดยให้ศาลชั้นต้นดำเนินการต่อไป ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นฎีกาให้เป็นพับ.

( มนตรี ยอดปัญญา - พิชัย อภิชาตอำมฤต - ชินวิทย์ จินดา แต้มแก้ว )
ศาลจังหวัดมหาสารคาม - นางมณฑาทิพย์ ตั้งวิชาชาญ
ศาลอุทธรณ์ภาค 4 - นายวรงค์พร จิระภาค
ป.วิ.พ. มาตรา 296, 306, 309 ทวิ
มาตรา 296 ในกรณีที่คำบังคับ หมายบังคับคดี หรือคำสั่งศาลใน ชั้นบังคับคดีฝ่าฝืนต่อบทบัญญัติแห่งลักษณะนี้ เมื่อศาลเห็นสมควร ไม่ว่าในเวลาใดก่อนการบังคับคดีได้เสร็จลง หรือเมื่อเจ้าพนักงาน บังคับคดีรายงานต่อศาล หรือเมื่อเจ้าหนี้ตามคำพิพากษา ลูกหนี้ตาม คำพิพากษา หรือบุคคลภายนอกผู้มีส่วนได้เสียในการบังคับคดีซึ่งต้อง เสียหายเพราะเหตุดังกล่าวยื่นคำร้องต่อศาล ให้ศาลมีอำนาจที่จะสั่ง เพิกถอนหรือแก้ไขคำบังคับ หมายบังคับคดี หรือคำสั่งดังกล่าวทั้งหมด หรือบางส่วนหรือมีคำสั่งอย่างใดตามที่ศาลเห็นสมควร
ภายใต้บังคับ มาตรา 309 ทวิ วรรคสอง ถ้าเจ้าพนักงานบังคับคดี ดำเนินการบังคับคดีฝ่าฝืนต่อบทบัญญัติแห่งลักษณะนี้ เมื่อศาลเห็น สมควรไม่ว่าในเวลาใดก่อนการบังคับคดีได้เสร็จลง หรือเมื่อเจ้าหนี้ ตามคำพิพากษา ลูกหนี้ตามคำพิพากษา หรือบุคคลภายนอกผู้มีส่วน ได้เสียในการบังคับคดีซึ่งต้องเสียหายเพราะเหตุดังกล่าวยื่นคำร้อง ต่อศาลให้ศาลมีอำนาจที่จะสั่งเพิกถอนหรือแก้ไขกระบวนวิธีการ บังคับคดีทั้งปวง หรือวิธีการบังคับใด ๆ โดยเฉพาะ หรือมีคำสั่ง กำหนดวิธีการอย่างใดตามที่ศาลเห็นสมควร
การยื่นคำร้องตาม มาตรานี้ อาจกระทำได้ไม่ว่าในเวลาใดก่อนการ บังคับคดีได้เสร็จลง แต่ต้องไม่ช้ากว่าสิบห้าวันนับแต่วันที่ทราบข้อ ความหรือพฤติการณ์อันเป็นมูลแห่งข้ออ้างนั้น แต่ทั้งนี้ผู้ยื่นคำร้อง ต้องมิได้ดำเนินการอันใดขึ้นใหม่หลังจากได้ทราบเรื่องฝ่าฝืนต่อ บทบัญญัติแห่งลักษณะนี้แล้ว หรือต้องมิได้ให้สัตยาบรรณแก่การ กระทำนั้น และในกรณีเช่นว่านี้ ผู้ยื่นคำร้องจะขอต่อศาลในขณะ เดียวกันนั้นให้มีคำสั่งงดการบังคับคดีไว้ในระหว่างวินิจฉัยชี้ขาดก็ได้
เพื่อประโยชน์แห่ง มาตรานี้ ให้ถือว่าการบังคับคดีได้เสร็จลง เมื่อ ได้มีการดำเนินการดังต่อไปนี้
(1) ในกรณีที่คำบังคับหรือหมายบังคับคดีกำหนดให้ส่งมอบ ทรัพย์สินการกระทำหรืองดเว้นการกระทำอย่างใด เมื่อได้มีการ ปฏิบัติตามคำบังคับหรือหมายบังคับคดีที่ให้ส่งมอบทรัพย์สินกระทำ การหรืองดเว้นกระทำการอย่างนั้นแล้ว แต่ถ้าการปฏิบัติการตาม คำบังคับหรือหมายบังคับคดีดังกล่าวอาจแยกได้เป็นส่วน ๆ เมื่อได้มีการปฏิบัติตามคำบังคับหรือหมายบังคับคดีในส่วนใดแล้ว ให้ถือว่าการบังคับคดีได้เสร็จลงเฉพาะในส่วนนั้น
(2) ในกรณีที่คำบังคับหรือหมายบังคับคดีกำหนดให้ใช้เงิน เมื่อเจ้าพนักงานบังคับคดีได้จ่ายเงินตาม มาตรา 318 มาตรา 319 มาตรา 320 มาตรา 321 หรือ มาตรา 322 แล้วแต่กรณี แล้วแต่ ถ้าทรัพย์สินที่ถูกบังคับคดีมีหลายรายการเมื่อเจ้าพนักงานบังคับคดี ได้จ่ายเงินที่ได้จากการขายทอดตลาดทรัพย์สินรายการใดแล้ว ให้ถือว่าการบังคับคดีได้เสร็จลงเฉพาะทรัพย์สินรายการนั้น
ในการยื่นคำร้องต่อศาลตาม มาตรานี้ หากมีพยานหลักฐานเบื้องต้น แสดงว่าคำร้องนั้นไม่มีมูลและยื่นเข้ามาเพื่อประวิงให้ชักช้า เมื่อศาล เห็นสมควรหรือเมื่อเจ้าหนี้ตามคำพิพากษาหรือบุคคลอื่นที่อาจได้รับความเสียหาย เนื่องจากการคำร้องดังกล่าวร้องขอ ศาลมีอำนาจที่จะ สั่งให้ผู้ยื่นคำร้องวางเงินหรือหาประกันต่อศาลตามจำนวนและภายใน ระยะเวลาที่ศาลเห็นสมควรกำหนด เพื่อเป็นประกันการชำระค่า สินไหมทดแทนแก่เจ้าหนี้ตามคำพิพากษาหรือบุคคลนั้นได้ ถ้าผู้ยื่น คำร้องไม่ปฏิบัติตามคำสั่งศาล ให้ศาลมีคำสั่งยกคำร้องนั้นเสีย คำสั่งของศาลที่ออกตามความในวรรคนี้ให้เป็นที่สุด
ในกรณีที่ศาลได้มีคำสั่งยกคำร้องที่ยื่นไว้ตามวรรคหนึ่งและ วรรคสองถ้าเจ้าหนี้ตามคำพิพากษาหรือบุคคลอื่นที่ได้รับความ เสียหายเนื่องจากการยื่นคำร้องดังกล่าวเห็นว่าคำร้องนั้นไม่มีมูลและ ยื่นเข้ามาเพื่อประวิงให้ชักช้าบุคคลดังกล่าวอาจยื่นคำร้องต่อศาล ภายในสามสิบวันนับแต่วันที่มีคำสั่งยกคำร้องเพื่อขอให้ศาลมีคำสั่ง ให้ผู้ยื่นคำร้องนั้นชดใช้ค่าสินไหมทดแทนแก่ตนได้ในกรณีเช่นว่านี้ ให้ศาลมีอำนาจสั่งให้แยกการพิจารณาเป็นสำนวนต่างหากจาก คดีเดิม และเมื่อศาลไต่สวนแล้วเห็นว่าคำร้องนั้นรับฟังได้ให้ศาลมี คำสั่งให้ผู้ยื่นคำร้องนั้นชดใช้ค่าสินไหมทดแทนแก่เจ้าหนี้ตาม คำพิพากษาหรือบุคคลที่ได้รับความเสียหายดังกล่าวตามจำนวนที่ ศาลเห็นสมควร ถ้าผู้ยื่นคำร้องนั้นไม่ปฏิบัติตามคำสั่งศาล ศาลมี อำนาจบังคับผู้ยื่นคำร้องนั้นได้เสมือนหนึ่งว่าเป็นลูกหนี้ตามคำพิพากษา
มาตรา 306 เมื่อได้ยึดสังหาริมทรัพย์มีรูปร่างเหมือน อสังหาริมทรัพย์ทั้งหมดหรือบางส่วนของลูกหนี้ตามคำพิพากษา แล้วให้เจ้าพนักงานบังคับคดียื่นคำขอต่อศาลขอให้สั่งอนุญาตให้ขาย ทอดตลาดทรัพย์สินนั้น ถ้าไม่มีผู้คัดค้านในการขายทรัพย์ ภายใต้บังคับบทบัญญัติ มาตรา 307 ให้ศาลมีคำสั่งอนุญาตตามคำขอ แล้วให้เจ้าพนักงานบังคับคดีแจ้งให้ทราบซึ่งคำสั่งขอศาลและวัน ขายทอดตลาดแก่บรรดาผู้มีส่วนได้เสียในการบังคับคดีแก่ทรัพย์สิน ที่จะขายทอดตลาดซึ่งทราบได้ตามทะเบียน หรือโดยประการอื่น
คำสั่งอนุญาตของศาลตาม มาตรานี้ ให้เป็นที่สุด
มาตรา 309 ทวิ ในการขายทอดตลาดทรัพย์สินของลูกหนี้ตามคำพิพากษา นั้นก่อนที่เจ้าพนักงานบังคับคดีจะเคาะไม้ขายให้แก่ผู้เสนอราคาสูงสุดที่เจ้าพนักงานบังคับคดี เห็นว่าเป็นราคาที่สมควรขายได้เจ้าหนี้ตามคำพิพากษา ลูกหนี้ตามคำพิพากษา หรือบุคคลผู้มีสวนได้เสียในการบังคับคดีอาจคัดค้านว่าราคาดังกล่าวมีจำนวนต่ำเกินสมควร ในกรณีเช่นว่านี้ ให้เจ้าพนักงานบังคับคดีเลื่อนการขายทอดตลาดทรัพย์สินไป เพื่อให้เจ้าหนี้ตามคำพิพากษา ลูกหนี้ตามคำพิพากษา หรือบุคคลผู้มีส่วนได้เสียในการบังคับคดี ไม่ว่าจะเป็นบุคคลที่คัดค้านหรือไม่ก็ตาม หาผู้ซื้อที่จะเสนอซื้อในราคาที่บุคคลดังกล่าวต้องการมาเสนอซื้อในการขายทอดตลาดทรัพย์สินครั้งต่อไป โดยให้ผู้เสนอราคาสูงสุดต้องผูกพันกับการเสนอราคาดังกล่าว เป็นระยะเวลาสามสิบวันนับแต่วันที่เสนอราคานั้น และในการขายทอดตลาดทรัพย์สินครั้งต่อไป หากมีผู้เสนอราคาสูงสุดในจำนวนไม่สูงกว่าจำนวนที่ผู้เสนอราคาสูงสุด ได้เสนอในการขายทอดตลาดทรัพย์สินครั้งก่อน หรือไม่มีผู้ใดเสนอราคาเลย ให้เจ้าพนักงานบังคับคดีเคาะไม้ขายให้แก่ผู้เสนอราคาสูงสุดในการขายทอดตลาดทรัพย์สินครั้งก่อน แต่หากมีผู้เสนอราคาสูงสุดในการขายทอดตลาดทรัพย์สินครั้ง ต่อไปในจำนวนสูงกว่าจำนวนที่ผู้เสนอราคาสูงสุดได้เสนอในการขายทอดตลาดทรัพย์สินครั้งก่อน ให้เจ้าพนักงานบังคับคดีเคาะไม้ขายให้แก่ผู้เสนอราคาสูงสุดในการขายทอดตลาดทรัพย์สินนั้น
ในกรณีที่เจ้าหนี้ตามคำพิพากษา ลูกหนี้ตามคำพิพากษา หรือบุคคลผู้มีส่วนได้เสียในการบังคับคดีเห็นว่าราคาที่ได้จากการขายทอดตลาดทรัพย์สิน มีจำนวนต่ำเกินสมควร และการขายทอดตลาดทรัพย์สินในราคาต่ำเกินสมควรนั้นเกิดจากการคบคิดกันฉ้อฉล ในระหว่างผู้ที่เกี่ยวข้องในการเข้าสู้ราคา หรือความไม่สุจริตหรือความประมาทเลินเล่ออย่างร้ายแรงของเจ้า พนักงานบังคับคดีในการปฏิบัติหน้าที่บุคคลดังกล่าวอาจยื่นคำร้องต่อศาล เพื่อขอให้มีคำสั่งเพิกถอนการขายทอดตลาดทรัพย์สินตามบทบัญญัติแห่งลักษณะนี้ได้ และเมื่อศาลไต่สวนแล้วเห็นว่าคำร้องรับฟังได้ ให้ศาลมีคำสั่งอนุญาตตามคำร้องหรือแก้ไขหรือมีคำสั่งกำหนดวิธีการอย่างใด ตามที่ศาลเห็นสมควรให้เสร็จภายในกำหนดเก้าสิบวันนับแต่วันได้รับคำร้องนั้น
ให้นำบทบัญญัติในวรรคสาม วรรคสี่ วรรคห้า และวรรคหกของ มาตรา 296 มาใช้บังคับแก่การยื่นคำร้องตามวรรคสองโดยอนุโลม
คำสั่งศาลตามวรรคสองให้เป็นที่สุด

ทนายความประชาชน
ชมรมปรึกษาคดีฟรี ทั่วประเทศฯ (ช ป.ท.)
hello! I am an admin of the People's Lawyer - Free Legal Consultation Club Nationwide (Chor.Por.T.A.) giving advice - like a relative - free of charge, call or add Line 089 214 2456
สวัสดี! ฉันเป็นแอดมินของทนายอาสา - ชมรมปรึกษาคดีฟรีทั่วประเทศฯ (ช.ป.ท.) ให้คำปรึกษา- ดุจญาติมิตร - ไม่คิดค่าใช้จ่าย โทร.หรือ แอดไลน์ 089 214 2456


X
ติดตั้ง แอพพลิเคชั่น บนมือถือ

🌈👉ติดตั้ง แอปพลิเคชัน👈🌈

💖⚖️“ (ทนายความประชาชน) ”⚖️💖

https://play.google.com/store/apps/

X
ติดตั้ง แอพพลิเคชั่น บนมือถือ