ยาบ้า ยาเสพติดให้โทษ นำเข้า 22 เม็ด

ยาบ้า ยาเสพติดให้โทษ นำเข้า 22 เม็ด โทษประหารชีวิต รับสารภาพลดโทษกึ่งหนึ่ง จำคุก 25 ปี

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5792/2550

แม้โจทก์จะบรรยายฟ้องว่า จำเลยได้กระทำความผิดฐานนำเมทแอมเฟตามีนเข้ามาในราชอาณาจักรจำนวน 22 เม็ด ตามคำฟ้องข้อ 1 ข แยกกับความผิดฐานมีเมทแอมเฟตามีนจำนวนเดียวกันไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่ายตาม คำฟ้องข้อ 1 ค ก็ตาม แต่คำฟ้องข้อ 1 ค โจทก์ได้บรรยายไว้โดยแจ้งชัดแล้วว่าเมทแอมเฟตามีนที่มีไว้ในครอบครองเพื่อ จำหน่ายดังกล่าวเป็นเมทแอมเฟตามีนที่จำเลยนำมาจากประเทศกัมพูชาเข้ามาในราช อาณาจักรจึงเป็นเมทแอมเฟตามีนจำนวนเดียวกัน ซึ่งมีจำนวนหน่วยการใช้และปริมาณน้ำหนักสารบริสุทธิ์ที่กฎหมายให้ถือว่าเป็น การนำเข้ามาเพื่อจำหน่ายเท่ากัน ทั้งโจทก์ได้อ้างบทมาตราขอให้ลงโทษจำเลยในความผิดฐานนำเมทแอมเฟตามีนเข้ามา ในราชอาณาจักรเพื่อจำหน่ายแล้ว ถือได้ว่าคำฟ้องของโจทก์ได้บรรยายไว้โดยชัดแจ้งว่า จำเลยกระทำความผิดฐานนำเมทแอมเฟตามีนของกลางเข้ามาในราชอาณาจักรเพื่อ จำหน่าย เป็นเรื่องที่โจทก์ฟ้องประสงค์ให้ลงโทษจำเลยในความผิดดังกล่าวตาม ป.วิ.อ. มาตรา 158 (5) (6) แล้ว

โจทก์ฟ้องและแก้ไขคำฟ้องว่า เมื่อวันที่ 28 กุมภาพันธ์ 2546 เวลากลางวัน จำเลยซึ่งเป็นบุคคลต่างด้าวเชื้อชาติกัมพูชา สัญชาติกัมพูชา เข้ามาในราชอาณาจักรโดยไม่ผ่านช่องทางที่กำหนดไม่ไปรายงานตัวต่อพนักงานเจ้า หน้าที่ และไม่มีหนังสือเดินทางอันเป็นการฝ่าฝืนต่อกฎหมาย ทั้งนำเมทแอมเฟตามีนซึ่งป็นยาเสพติดให้โทษในประเภท 1 จำนวน 22 เม็ด น้ำหนัก 2.10 กรัม คำนวณเป็นสารบริสุทธิ์ได้ 0.50 กรัม จากราชอาณาจักรกัมพูชาเข้ามาในราชอาณาจักร กับมีเมทแอมเฟตามีนดังกล่าวไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่ายโดยฝ่าฝืนต่อกฎหมาย และนำหรือพารถจักรยานยนต์ ยี่ห้อฮอนด้า รุ่นเวฟ 100 สีแดงดำ ไม่ติดแผ่นป้ายทะเบียน หมายเลขตัวรถ เอ็นเอฟ 100 ดี-0037061 อันมีถิ่นกำเนิดหรือผลิตในราชอาณาจักรและยังไม่ได้ผ่านพิธีศุลกากรโดยถูก ต้อง ซึ่งเจ้าหน้าที่ศุลกากรได้ประเมินราคารถจักรยานยนต์ดังกล่าวแล้วเป็นเงิน 12,000 บาท ออกนอกราชอาณาจักร โดยไม่ผ่านด่านศุลกากรให้ถูกต้อง เหตุเกิดที่ตำบลเทพนิมิต อำเภอโป่งน้ำร้อน จังหวัดจันทบุรี เจ้าพนักงานจับกุมจำเลยได้พร้อมยึดเมทแอมเฟตามีนจำนวนดังกล่าวและถุงพลาสติก ที่จำเลยใช้บรรจุเมทแอมเฟตามีน เป็นของกลาง ขอให้ลงโทษตามพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ.2522 มาตรา 4, 7, 8, 15, 65, 66, 102 พระราชบัญญัติศุลกากร พ.ศ.2469 มาตรา 27 พระราชบัญญัติคนเข้าเมือง พ.ศ.2522 มาตรา 4, 11, 18, 62 ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 33, 91 ริบเมทแอมเฟตามีนและถุงพลาสติกของกลาง

จำเลยให้การรับสารภาพข้อหานำเมทแอมเฟตามีนเข้ามาในราชอาณาจักรและมีเมทแอ มเฟตามีนไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่าย ปฏิเสธข้อหาเป็นบุคคลต่างด้าวเข้ามาในราชอาณาจักรโดยไม่ได้รับอนุญาต และข้อหานำสิ่งของต้องห้ามออกนอกราชอาณาจักร

ศาลชั้นต้นพิพากษาว่าจำเลยมีความผิดตามพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ.2522 มาตรา 15 วรรคหนึ่งและวรรคสาม (2), 65 วรรคสอง, 66 วรรคสอง การกระทำของจำเลยเป็นกรรมเดียวเป็นความผิดต่อกฎหมายหลายบทให้ลงโทษฐานนำเข้า เมทแอมเฟตามีนเพื่อจำหน่าย ซึ่งเป็นกฎหมายบทที่มีโทษหนักที่สุดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 90 ประหารชีวิต จำเลยให้การรับสารภาพเป็นประโยชน์แก่การพิจารณา มีเหตุบรรเทาโทษ ลดโทษให้กึ่งหนึ่งตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 ประกอบด้วยมาตรา 52 (2) คงจำคุกตลอดชีวิต ริบเมทแอมเฟตามีนและถุงพลาสติกของกลาง ข้ออื่นนอกจากนี้ให้ยก
จำเลยอุทธรณ์

ศาลอุทธรณ์ภาค 2 พิพากษาแก้เป็นว่า จำเลยมีความผิดตามพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ.2522 มาตรา 15 วรรคหนึ่งและวรรคสาม (2), 65 วรรคหนึ่ง, 66 วรรคสอง การกระทำของจำเลยเป็นกรรมเดียวเป็นความต่อกฎหมายหลายบท ให้ลงโทษฐานนำเข้าเมทแอมเฟตามีนซึ่งเป็นกฎหมายบทที่มีโทษหนักที่สุดตาม ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 90 ให้จำคุกตลอดชีวิตและปรับ 5,000,000 บาท จำเลยให้การรับสารภาพ ลดโทษให้กึ่งหนึ่งแล้วตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 ประกอบด้วยมาตรา 53 คงจำคุก 25 ปี และปรับ 2,500,000 บาท หากไม่ชำระค่าปรับให้จัดการตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 29, 30 ทั้งนี้ให้กักขังแทนค่าปรับเป็นระยะเวลาไม่เกิน 2 ปี นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
โจทก์ฎีกา

ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า สำหรับความผิดฐานเป็นบุคคลต่างด้าวเข้ามาในราชอาณาจักรโดยไม่ได้รับอนุญาต และฐานนำสิ่งของต้องห้ามออกนอกราชอาณาจักร โจทก์มิได้อุทธรณ์ คดีในส่วนของความผิดดังกล่าวจึงยุติตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น คดีคงมีปัญหาข้อกฎหมายที่ต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์เพียงว่า ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 2 พิพากษาลงโทษจำเลยในความผิดฐานนำเข้าเมทแอมเฟตามีนชอบหรือไม่ โจทก์ฎีกาว่า ฟ้องโจทก์บรรยายไว้แจ้งชัดแล้วว่า จำเลยนำเมทแอมเฟตามีนของกลางเข้ามาในราชอาณาจักรและมีเมทแอมเฟตามีนไว้ใน ครอบครองเพื่อจำหน่าย และขอให้ศาลลงโทษในความผิดดังกล่าวด้วย ถือได้ว่าโจทก์ฟ้องประสงค์ให้ลงโทษจำเลยฐานนำเมทแอมเฟตามีนเข้ามาในราช อาณาจักรเพื่อจำหน่ายแล้ว เห็นว่า เมื่อพิจารณาคำฟ้องโจทก์ที่บรรยายเกี่ยวกับความผิดดังกล่าว ตามคำฟ้อง ข้อ 1 ข บรรยายฟ้องว่า “จำเลยได้บังอาจนำเมทแอมเฟตามีนไฮโดรคลอไรด์ ซึ่งเป็นเกลือของเมทแอมเฟตามีนและเป็นอนุพันธ์เมทแอมเฟตามีน อันเป็นยาเสพติดให้โทษชนิดร้ายแรงในประเภท 1 ตามพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ จำนวน 22 เม็ด เข้ามาในราชอาณาจักร อันเป็นการฝ่าฝืนต่อกฎหมาย” และคำฟ้องข้อ 1 ค บรรยายฟ้องว่า “จำเลยบังอาจมีเมทแอมเฟตามีนไฮโดรคลอไรด์ ซึ่งเป็นเกลือของเมทแอมเฟตามีนและเป็นอนุพันธ์ของเมทแอมเฟตามีน อันเป็นยาเสพติดให้โทษชนิดร้ายแรงในประเภท 1 ดังกล่าวในฟ้องข้อ 1 ข จำนวน 22 เม็ด ซึ่งเป็นเมทแอมเฟตามีนที่จำเลยนำมาจากประเทศกัมพูชาเข้ามาในราชอาณาจักรไทย ดังกล่าวในฟ้องข้อ 1 ข ไว้ในครอบครองของจำเลยเพื่อจำหน่าย อันเป็นการฝ่าฝืนต่อกฎหมาย” จะเห็นได้ว่า แม้โจทก์จะบรรยายฟ้องว่าจำเลยกระทำความผิดฐานนำเมทแอมเฟตามีนจำนวน 22 เม็ด เข้ามาในราชอาณาจักรตามคำฟ้องข้อ 1 ข แยกกับความผิดฐานมีเมทแอมเฟตามีนจำนวนเดียวกันไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่ายตาม คำฟ้องข้อ 1 ค ก็ตาม แต่คำฟ้อง ข้อ 1 ค โจทก์ได้บรรยายไว้โดยชัดแจ้งแล้วว่าเมทแอมเฟตามีนที่มีไว้ในครอบครองเพื่อ จำหน่ายดังกล่าวเป็นเมทแอมเฟตามีนที่จำเลยนำมาจากประเทศกัมพูชาเข้ามาในราช อาณาจักรจึงเป็นเมทแอมเฟตามีนจำนวนเดียวกัน ซึ่งมีจำนวนหน่วยการใช้และปริมาณน้ำหนักสารบริสุทธิ์ที่กฎหมายให้ถือว่าเป็น การนำเข้ามาเพื่อจำหน่ายเท่ากัน ทั้งโจทก์ได้อ้างบทมาตราขอให้ลงโทษจำเลยในความผิดฐานนำเมทแอมเฟตามีนเข้ามา ในราชอาณาจักรเพื่อจำหน่ายไว้แล้ว ถือได้ว่าคำฟ้องของโจทก์ได้บรรยายไว้โดยชัดแจ้งแล้วว่า จำเลยกระทำความผิดฐานนำเมทแอมเฟตามีนของกลางเข้ามาในราชอาณาจักรเพื่อ จำหน่าย เป็นเรื่องที่โจทก์ฟ้องประสงค์ให้ลงโทษจำเลยในความผิดฐานดังกล่าว ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 158 (5) (6) แล้ว ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 2 วินิจฉัยว่า โจทก์มิได้บรรยายฟ้องว่า จำเลยนำเข้าเมทแอมเฟตามีนเพื่อจำหน่ายและพิพากษาลงโทษจำเลยในความผิดเพียง ฐานนำเข้าเมทแอมเฟตามีนนั้น ศาลฎีกาไม่เห็นพ้องด้วย ฎีกาของโจทก์ฟังขึ้น

พิพากษาแก้เป็นว่า จำเลยมีความผิดตามพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ.2522 มาตรา 15 วรรคหนึ่งและวรรคสาม (2), 65 วรรคสอง, 66 วรรคสอง การกระทำของจำเลยเป็นกรรมเดียวเป็นความผิดต่อกฎหมายหลายบทให้ลงโทษฐานนำเข้า ซึ่งเมทแอมเฟตามีนเพื่อจำหน่าย ซึ่งกฎหมายบทที่มีโทษหนักที่สุดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 90 ให้ประหารชีวิต ลดโทษให้กึ่งหนึ่งตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 ประกอบมาตรา 52 (2) คงจำคุก 25 ปี นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 2.
( พันวะสา บัวทอง - พินิจ บุญชัด - สมศักดิ์ ตันติภิรมย์ )

ประมววลกฎหมายอาญา
มาตรา 90 เมื่อการกระทำใดอันเป็นกรรมเดียวเป็นความผิดต่อ กฏหมายหลายบท ให้ใช้กฎหมายบทที่มีโทษหนักที่สุดลงโทษแก่ผู้ กระทำความผิด
พ.ร.บ.ยาเสพติดให้โทษ พ.ศ.2522
มาตรา 4 “นำเข้า” หมายความว่า นำหรือสั่งเข้ามาในราชอาณาจักร

มาตรา 7 ยาเสพติดให้โทษแบ่งออกเป็น 5 ประเภท คือ
(1) ประเภท 1 ยาเสพติดให้โทษชนิดร้ายแรง เช่น เฮโรอีน (Heroin)
(2) ประเภท 2 ยาเสพติดให้โทษทั่วไป เช่น มอร์ฟีน (Morphine) โคคาอีน (Cocaine) โคเดอีน (Codeine) ฝิ่นยา (Medicinal Opium)
(3) ประเภท 3 ยาเสพติดให้โทษที่มีลักษณะเป็นตำรับยา และมียาเสพติดให้โทษในประเภท 2 ผสมอยู่ด้วย ตามหลักเกณฑ์ที่รัฐมนตรีประกาศกำหนดในราชกิจจานุเบกษา
(4) ประเภท 4 สารเคมีที่ใช้ในการผลิตยาเสพติดให้โทษประเภท 1 หรือประเภท 2 เช่น อาเซติคแอนไฮไดรด์ (Acetic Anhydride) อาเซติลคลอไรด์ (Acetyl Chloride)
(5) ประเภท 5 ยาเสพติดให้โทษที่มิได้เข้าอยู่ในประเภท 1 ถึงประเภท 4 เช่น กัญชา พืชกระท่อม
ทั้งนี้ ตามที่รัฐมนตรีประกาศระบุชื่อยาเสพติดให้โทษตามมาตรา 8 (1)
เพื่อประโยชน์แห่งมาตรานี้ คำว่า ฝิ่นยา (Medicinal Opium) หมายถึง ฝิ่นที่ได้ผ่านกรรมวิธีปรุงแต่งโดยมีความมุ่งหมายเพื่อใช้ในทางยา
มาตรา 8 ให้รัฐมนตรีโดยความเห็นชอบของคณะกรรมการมีอำนาจประกาศในราชกิจจานุเบกษา
(1) ระบุชื่อยาเสพติดให้โทษว่า ยาเสพติดให้โทษชื่อใดอยู่ในประเภทใดตามมาตรา 7
(2) เพิกถอนหรือเปลี่ยนแปลงชื่อหรือประเภทยาเสพติดให้โทษตาม (1)
(3) กำหนดมาตรฐานว่าด้วยปริมาณ ส่วนประกอบ คุณภาพ ความบริสุทธิ์ หรือลักษณะอื่นของยาเสพติดให้โทษตลอดจนการบรรจุและการเก็บรักษายาเสพติดให้ โทษ
(4) กำหนดจำนวนและจำนวนเพิ่มเติมซึ่งยาเสพติดให้โทษที่จะต้องใช้ในทางการแพทย์และทางวิทยาศาสตร์ทั่วราชอาณาจักรประจำปี
(5) กำหนดหลักเกณฑ์และวิธีการในการกำหนดปริมาณยาเสพติดให้โทษที่ผู้อนุญาตจะอนุญาตให้ผลิต นำเข้า จำหน่าย หรือมีไว้ในครอบครองได้
(6) กำหนดหลักเกณฑ์เกี่ยวกับยาเสพติดให้โทษในประเภท 3 ตามมาตรา 7 (3)
(7) จัดตั้งสถานพยาบาล
(8) กำหนดระเบียบข้อบังคับ เพื่อควบคุมการบำบัดรักษาและระเบียบวินัยสำหรับสถานพยาบาล

มาตรา 15 ห้ามมิให้ผู้ใดผลิต นำเข้า ส่งออก จำหน่ายหรือมีไว้ในครอบครองซึ่งยาเสพติดให้โทษในประเภท 1 เว้นแต่รัฐมนตรีได้อนุญาตเฉพาะในกรณีจำเป็นเพื่อประโยชน์ของทางราชการ
การขออนุญาตและการอนุญาต ให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขที่กำหนดในกฎกระทรวง
การผลิต นำเข้า ส่งออก หรือมีไว้ในครอบครองซึ่งยาเสพติดให้โทษในประเภท 1 ตามปริมาณดังต่อไปนี้ ให้ถือว่าเป็นการผลิต นำเข้า ส่งออก หรือมีไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่าย
(1) เด็กซ์โตรไลเซอร์ไยด์ หรือ แอล เอส ดี มีปริมาณคำนวณเป็นสารบริสุทธิ์ตั้งแต่ศูนย์จุดเจ็ดห้ามิลลิกรัมขึ้นไป หรือมียาเสพติดที่มีสารดังกล่าวผสมอยู่จำนวนสิบห้าหน่วยการใช้ขึ้นไปหรือมี น้ำหนักสุทธิตั้งแต่สามร้อยมิลลิกรัมขึ้นไป
(2) แอมเฟตามีนหรืออนุพันธ์แอมเฟตามีน มีปริมาณคำนวณเป็นสารบริสุทธิ์ตั้งแต่สามร้อยเจ็ดสิบห้ามิลลิกรัมขึ้นไป หรือมียาเสพติดที่มีสารดังกล่าวผสมอยู่จำนวนสิบห้าหน่วยการใช้ขึ้นไป หรือมีน้ำหนักสุทธิตั้งแต่หนึ่งจุดห้ากรัมขึ้นไป
(3) ยาเสพติดให้โทษในประเภท 1 นอกจาก (1) และ (2) มีปริมาณคำนวณเป็นสารบริสุทธิ์ตั้งแต่สามกรัมขึ้นไป

มาตรา 65 ผู้ใดผลิต นำเข้า หรือส่งออกซึ่งยาเสพติดให้โทษในประเภท 1 อันเป็นการฝ่าฝืนมาตรา 15 ต้องระวางโทษจำคุกตลอดชีวิตและปรับตั้งแต่หนึ่งล้านบาทถึงห้าล้านบาท
ถ้าการกระทำความผิดตามวรรคหนึ่งเป็นการกระทำเพื่อจำหน่าย ต้องระวางโทษประหารชีวิต
ถ้าการกระทำความผิดตามวรรคหนึ่งเป็นการผลิตโดยการแบ่งบรรจุ หรือรวมบรรจุ และมีปริมาณคำนวณเป็นสารบริสุทธิ์ หรือมีจำนวนหน่วยการใช้ หรือมีน้ำหนักสุทธิไม่ถึงปริมาณที่กำหนดตามมาตรา 15 วรรคสาม ต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่สี่ปีถึงสิบห้าปี หรือปรับตั้งแต่แปดหมื่นบาทถึงสามแสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
ถ้าการกระทำความผิดตามวรรคสาม เป็นการกระทำเพื่อจำหน่าย ต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่สี่ปีถึงจำคุกตลอดชีวิตและปรับตั้งแต่สี่แสนบาทถึง ห้าล้านบาท
มาตรา 66 ผู้ใดจำหน่ายหรือมีไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่ายซึ่งยาเสพติดให้โทษในประเภท 1 โดยไม่ได้รับอนุญาตและมีปริมาณคำนวณเป็นสารบริสุทธิ์ หรือมีจำนวนหน่วยการใช้ หรือมีน้ำหนักสุทธิไม่ถึงปริมาณที่กำหนดตามมาตรา 15 วรรคสาม ต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่สี่ปีถึงสิบห้าปี หรือปรับตั้งแต่แปดหมื่นบาทถึงสามแสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
ถ้ายาเสพติดให้โทษตามวรรคหนึ่งมีปริมาณคำนวณเป็นสารบริสุทธิ์ตั้งแต่ปริมาณ ที่กำหนดตามมาตรา 15 วรรคสาม แต่ไม่เกินยี่สิบกรัม ต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่สี่ปีถึงจำคุกตลอดชีวิตและปรับตั้งแต่สี่แสนบาทถึง ห้าล้านบาท
ถ้ายาเสพติดให้โทษตามวรรคหนึ่งมีปริมาณคำนวณเป็นสารบริสุทธิ์เกินยี่สิบกรัม ขึ้นไปต้องระวางโทษจำคุกตลอดชีวิตและปรับตั้งแต่หนึ่งล้านบาทถึงห้าล้านบาท หรือประหารชีวิต
มาตรา 102 ทวิ ในกรณีที่มีการฟ้องคดีความผิดเกี่ยวกับยาเสพติดให้โทษในประเภท 1 หรือในประเภท 2 ต่อศาล และไม่ได้มีการโต้แย้งเรื่องประเภท จำนวน หรือน้ำหนักของยาเสพติดให้โทษ ถ้าศาลชั้นต้นมีคำพิพากษาหรือมีคำสั่งให้ริบยาเสพติดให้โทษดังกล่าวตามมาตรา 102 หรือตามกฎหมายอื่น และไม่มีคำเสนอว่าผู้เป็นเจ้าของแท้จริงไม่ได้รู้เห็นเป็นใจด้วยในการกระทำ ความผิดภายในกำหนดสามสิบวันนับแต่วันที่ศาลมีคำพิพากษาหรือคำสั่งให้ริบยา เสพติดให้โทษนั้น ให้กระทรวงสาธารณสุขหรือผู้ซึ่งกระทรวงสาธารณสุขมอบหมายทำลายหรือนำไปใช้ ประโยชน์ได้ตามระเบียบที่กระทรวงสาธารณสุขกำหนด

ทนายความประชาชน
ชมรมปรึกษาคดีฟรี ทั่วประเทศฯ (ช ป.ท.)
hello! I am an admin of the People's Lawyer - Free Legal Consultation Club Nationwide (Chor.Por.T.A.) giving advice - like a relative - free of charge, call or add Line 089 214 2456
สวัสดี! ฉันเป็นแอดมินของทนายอาสา - ชมรมปรึกษาคดีฟรีทั่วประเทศฯ (ช.ป.ท.) ให้คำปรึกษา- ดุจญาติมิตร - ไม่คิดค่าใช้จ่าย โทร.หรือ แอดไลน์ 089 214 2456


X
ติดตั้ง แอพพลิเคชั่น บนมือถือ

🌈👉ติดตั้ง แอปพลิเคชัน👈🌈

💖⚖️“ (ทนายความประชาชน) ”⚖️💖

https://play.google.com/store/apps/

X
ติดตั้ง แอพพลิเคชั่น บนมือถือ