สิทธิเหนือทรัพย์สินอันเป็นหลักประกัน

สิทธิเหนือทรัพย์สินอันเป็นหลักประกันในคดีล้มละลาย
เจ้าหนี้ที่ขอรับชำระหนี้ของตนตามพระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ. 2483 มาตรา 96 ต้องขอรับชำระหนี้ทั้งหมดของตนที่มีทรัพย์สินอันเป็นหลักประกันภายในกำหนดเวลาสองเดือนนับแต่วันโฆษณาคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์เด็ดขาดตามมาตรา 91

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1711/2535

เจ้าหนี้มีประกันมีสิทธิที่จะเลือกใช้สิทธิตามพระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ. 2483 มาตรา 95 หรือมาตรา 96 เหนือทรัพย์สินอันเป็นหลักประกันเพียงมาตราเดียว หากเลือกใช้สิทธิขอรับชำระหนี้ตามมาตรา 96 แล้ว ก็ย่อมหมดสิทธิที่จะถือสิทธิเหนือทรัพย์สินอันเป็นหลักประกันนั้นตามมาตรา 95 อีกต่อไป และต้องขอรับชำระหนี้ทั้งหมดของตนที่มีทรัพย์สินอันเป็นหลักประกันภายในกำหนดเวลาสองเดือนนับแต่วันโฆษณาคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์เด็ดขาดตามมาตรา 91 ผู้ร้องจดทะเบียนรับจำนองที่ดินจากจำเลยที่ 1 เพื่อเป็นหลักประกันในการที่ผู้ร้องรับอาวัลตั๋วสัญญาใช้เงิน 12 ฉบับที่จำเลยที่ 1 ออกให้แก่ผู้อื่น ผู้ร้องได้ยื่นคำขอรับชำระหนี้ในฐานะเจ้าหนี้มีประกันในมูลหนี้ตั๋วสัญญาใช้เงิน 11 ฉบับ สำหรับที่ดินที่จำเลยไว้ อันเป็นการเลือกใช้สิทธิขอรับชำระหนี้ในฐานะเจ้าหนี้มีประกันตามพระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ. 2483 มาตรา96(3) แล้ว ผู้ร้องจึงไม่มีสิทธิที่จะถือสิทธิเหนือที่ดินที่จำนองตามมาตรา 95 อีกต่อไป และเมื่อผู้ร้องมิได้ยื่นคำขอรับชำระหนี้ในฐานะเจ้าหนี้มีประกันในมูลหนี้ตั๋วสัญญาใช้เงิน ฉบับที่ 12ภายในกำหนดเวลาขอรับชำระหนี้ตามมาตรา 91 ผู้ร้องก็ไม่มีสิทธิขอรับชำระหนี้นั้นอีกต่อไปพระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ. 2483 มาตรา 101 ให้สิทธิแก่บุคคลผู้เป็นลูกหนี้ร่วมกับลูกหนี้ในคดีล้มละลาย ผู้ค้ำประกันผู้ค้ำประกันร่วมหรือบุคคลที่อยู่ในลักษณะเดียวกันนี้ ที่จะยื่นคำขอรับชำระหนี้สำหรับจำนวนที่ตนอาจใช้สิทธิไล่เบี้ยในเวลาภายหน้าได้ ดังนั้น แม้ผู้ร้องซึ่งเป็นผู้อาวัลตั๋วสัญญาใช้เงินที่จำเลยที่ 1 ออกให้แก่บุคคลอื่น มิได้ชำระเงินตามตั๋วสัญญาใช้เงินนั้นให้แก่ผู้รับเงิน ผู้ร้องก็มีสิทธิที่จะยื่นคำขอรับชำระหนี้สำหรับหนี้ตามตั๋วสัญญาใช้เงินนั้นได้ภายในกำหนดเวลาตามมาตรา 91เมื่อผู้ร้องมิได้ยื่นคำขอรับชำระหนี้ภายในกำหนดเวลานั้น ผู้ร้องจึงไม่มีสิทธิได้รับชำระหนี้สำหรับหนี้ดังกล่าว

คดีนี้สืบเนื่องมาจากศาลชั้นต้นมีคำสั่งให้พิทักษ์ทรัพย์จำเลยทั้งสองเด็ดขาดและพิพากษาให้ล้มละลาย ผู้ร้อง (โจทก์)ยื่นคำขอรับชำระหนี้ในฐานะเจ้าหนี้มีประกันตามพระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ. 2483 มาตรา 96(3) ในทรัพย์จำนองที่ดินรวม 175 โฉนดอันเป็นหนี้ตามตั๋วสัญญาใช้เงิน 11 ฉบับ ที่จำเลยที่ 1 เป็นผู้ออกและผู้ร้องเป็นผู้อาวัลตั๋วดังกล่าวโดยได้ชำระเงินตามตั๋วให้แก่ผู้มีชื่อในตั๋วนั้นไปแล้วจากกองทรัพย์สินของจำเลย เป็นเงิน73,280,520.54 บาท เมื่อวันที่ 28 มิถุนายน 2528 ผู้คัดค้าน(เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์) รายงานความเห็นต่อศาลชั้นต้นว่าควรให้ผู้ร้องได้รับชำระหนี้จากกองทรัพย์สินของจำเลยก่อนเจ้าหนี้รายอื่นในเงินที่ขายทอดตลาดทรัพย์จำนองและขอรับชำระหนี้จำนวนที่ยังขาดจากกองทรัพย์สินของลูกหนี้ได้ตามขอ ศาลชั้นต้นมีคำสั่งอนุญาตตามความเห็นของผู้คัดค้าน ต่อมาวันที่ 6 พฤษภาคม 2531 ก่อนการขายทรัพย์จำนอง ผู้ร้องยื่นคำร้องต่อผู้คัดค้านขอรับชำระหนี้ในฐานะเจ้าหนี้มีประกันในหนี้ตามตั๋วสัญญาใช้เงินอีก 1 ฉบับที่จำเลยที่ 1 เป็นผู้ออกซึ่งผู้ร้องเป็นผู้อาวัลตั๋วและได้ชำระเงินตามตั๋วนั้นไปแล้ว เป็นเงิน 22,664,931.50 บาท โดยถือเอาทรัพย์สินที่จำนองรายเดียวกันเป็นประกันหนี้ตามตั๋วสัญญาใช้เงินดังกล่าวผู้คัดค้านมีคำสั่งว่า เป็นกรณีผู้ร้องใช้สิทธิบังคับแก่ทรัพย์อันเป็นหลักประกันและศาลชั้นต้นมีคำสั่งอนุญาตไปแล้ว ไม่มีหลักประกันอยู่ที่ผู้คัดค้านที่จะมีคำสั่งตามมาตรา 95 แห่งพระราชบัญญัติ ล้มละลาย พ.ศ. 2483 ได้ผู้ร้องไม่มีสิทธิมาขอรับชำระหนี้จากทรัพย์อันเป็นหลักประกันรายเดียวกันอีก ให้ยกคำร้อง

ผู้ร้องยื่นคำร้องต่อศาลชั้นต้นว่า จำเลยที่ 1 จำนองที่ดินรวม 175 โฉนด พร้อมสิ่งปลูกสร้างในวงเงิน 70,000,000 บาทพร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 19 ต่อปี เพื่อเป็นประกันหนี้ในการที่ผู้ร้องได้อาวัลตั๋วสัญญาใช้เงินรวม 12 ฉบับ ที่จำเลยที่ 1ออกให้แก่บุคคลอื่นรวมเป็นเงิน 70,000,000 บาท ซึ่งเท่ากับวงเงินจำนอง ภาระการจำนองจึงครอบคลุมถึงมูลหนี้อันเกิดจากการอาวัลตั๋วสัญญาใช้เงินดังกล่าว ผู้ร้องจึงเป็นเจ้าหนี้มีประกันผู้มีสิทธิในทางการจำนองเหนือทรัพย์สินจำนองอันเป็นหลักประกันเต็มจำนวน 70,000,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยซึ่งผู้ร้องมีสิทธิใช้สิทธิตามพระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ. 2483 มาตรา 95, 96 ได้ ผู้ร้องย่อมนำหนี้ตามตั๋วสัญญาใช้เงินฉบับที่ 12 มาใช้สิทธิตามมาตรา 95เพื่อขอรับชำระหนี้เพิ่มเติมได้ ซึ่งมาตรา 95 มิได้บัญญัติวิธีใช้สิทธิไว้ จึงต้องนำประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 289มาใช้บังคับโดยอนุโลม นอกจากนี้ในวันที่ผู้ร้องยื่นคำร้องต่อผู้คัดค้าน หรือในวันที่ผู้คัดค้านมีคำสั่งยกคำร้องของผู้ร้องก็ดีต่างเป็นวันก่อนวันขายทอดตลาดทรัพย์สินอันเป็นหลักประกันเสร็จสิ้นสิทธิเหนือทรัพย์สินอันเป็นหลักประกันของผู้ร้องตามสัญญาจำนองยังคงมีอยู่ตามกฎหมาย และทรัพย์อันเป็นหลักประกันยังคงมีอยู่ที่ผู้คัดค้านชอบที่ผู้ร้องจะขอรับชำระหนี้ได้ การที่ผู้ร้องขอรับชำระหนี้ในตั๋วสัญญาใช้เงินรวม 11 ฉบับ ในฐานะเจ้าหนี้มีประกันนั้นผู้ร้องมิได้แสดงเจตนาว่าได้สละสิทธิในมูลหนี้นอกจากอาวัลตั๋วสัญญาใช้เงิน 11 ฉบับ และมิได้สละสิทธิจำนองที่มีอยู่เหนือทรัพย์จำนอง แต่ได้สงวนสิทธิที่จะขอรับชำระหนี้จากทรัพย์สินอันเป็นหลักประกันก่อนเจ้าหนี้อื่น ขอให้ยกคำสั่งของผู้คัดค้านโดยให้ผู้ร้องมีบุริมสิทธิ์เหนือทรัพย์สินอันเป็นหลักประกันเป็นเงิน 22,664,931.50 บาท พร้อมดอกเบี้ยร้อยละ 15 ต่อปีจากต้นเงินดังกล่าวนับแต่วันที่ 19 เมษายน 2531 เป็นต้นไป จนกว่าจะชำระหนี้ให้แก่ผู้ร้องเสร็จ

ผู้คัดค้านคัดค้านว่า เมื่อมีการบังคับจำนองแก่ทรัพย์สินที่จำนองเป็นประกันตามมูลหนี้ในตั๋วสัญญาใช้เงินรวม 11 ฉบับ แล้วผู้ร้องจะนำหนี้อันเกิดจากการอาวัลตั๋วสัญญาใช้เงินฉบับที่ 12 อันเป็นหนี้ส่วนหนึ่งที่จำนองตามสัญญาจำนองมาขอให้ผู้คัดค้านสั่งแสดงบุริมสิทธิ์ตามมาตรา 95 แห่งพระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ. 2483อีกไม่ได้เพราะเมื่อผู้ร้องใช้สิทธิตามมาตรา 96(3) แล้วย่อมเป็นผลให้หลักประกันระงับไป ทั้งพระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ. 2483ได้บัญญัติไว้แจ้งชัดถึงวิธีการบังคับชำระหนี้เอาแก่ทรัพย์สินอันเป็นหลักประกันแล้วตามมาตรา 95, 96 กรณีจึงไม่จำต้องนำประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 289 มาใช้บังคับขอให้ยกคำร้อง
ศาลชั้นต้นมีคำสั่งให้ยกคำร้อง ผู้ร้องอุทธรณ์ ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน ผู้ร้องฎีกา

ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า "ข้อเท็จจริงเบื้องต้นฟังได้เป็นยุติว่าผู้ร้องอาวัลตั๋วสัญญาใช้เงินที่จำเลยที่ 1 ออกให้แก่บุคคลอื่น12 ฉบับ เป็นเงิน 70,000,000 บาท ในการนี้จำเลยที่ 1 จดทะเบียนจำนองที่ดินรวม 175 โฉนด เป็นประกันไว้กับผู้ร้องในวงเงิน70,000,000 บาท หลังจากศาลชั้นต้นมีคำสั่งให้พิทักษ์ทรัพย์จำเลยทั้งสองเด็ดขาด ผู้ร้องยื่นคำขอรับชำระหนี้ในฐานะเจ้าหนี้มีประกันในมูลหนี้จำนองและอาวัลตั๋วสัญญาใช้เงิน 11 ฉบับ เมื่อวันที่28 มิถุนายน 2528 ผู้คัดค้านสอบสวนแล้วทำความเห็นเสนอต่อศาลชั้นต้นว่าควรอนุญาตให้ผู้ร้องได้รับชำระหนี้จากเงินที่ขายทอดตลาดที่ดินจำนอง 175 โฉนด ก่อนเจ้าหนี้รายอื่นและให้ได้รับชำระหนี้ส่วนที่ขาดจากกองทรัพย์สินของลูกหนี้ ศาลชั้นต้นมีคำสั่งให้ผู้ร้องรับชำระหนี้ได้ตามความเห็นของผู้คัดค้าน ต่อมาวันที่6 พฤษภาคม 2531 ก่อนขายทรัพย์จำนอง ผู้ร้องยื่นคำขอรับชำระหนี้ในฐานะเจ้าหนี้มีประกันในมูลหนี้จำนองและอาวัลตั๋วสัญญาใช้เงินฉบับที่ 12 ที่เหลืออีก 1 ฉบับ

คดีมีปัญหาที่จะต้องวินิจฉัยตามฎีกาของผู้ร้องว่า ผู้ร้องมีสิทธิได้รับชำระหนี้บุริมสิทธิ์ในฐานะเจ้าหนี้มีประกันในมูลหนี้จำนองและอาวัลตั๋วสัญญาใช้เงินฉบับที่ 12 หรือไม่ เห็นว่าพระราชบัญญัติ ล้มละลาย พ.ศ. 2483 มาตรา 95 บัญญัติว่า "เจ้าหนี้มีประกันย่อมมีสิทธิเหนือทรัพย์สินอันเป็นหลักประกันซึ่งลูกหนี้ได้ให้ไว้ก่อนถูกพิทักษ์ทรัพย์โดยไม่ต้องขอรับชำระหนี้ แต่ต้องยอมให้เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ตรวจดูทรัพย์สินนั้น" และมาตรา 96บัญญัติว่า "เจ้าหนี้มีประกันอาจขอรับชำระหนี้ภายในเงื่อนไขดังต่อไปนี้
(1) เมื่อยินยอมสละทรัพย์สินอันเป็นหลักประกันเพื่อประโยชน์แก่เจ้าหนี้ทั้งหลายแล้ว ขอรับชำระหนี้ได้เต็มจำนวน
(2) เมื่อได้บังคับเอาทรัพย์สินอันเป็นหลักประกันแล้วขอรับชำระหนี้สำหรับจำนวนที่ยังขาดอยู่
(3) เมื่อได้ขอให้เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ขายทอดตลาดทรัพย์สินอันเป็นหลักประกันแล้ว ขอรับชำระหนี้สำหรับจำนวนที่ยังขาดอยู่
(4) เมื่อตีราคาทรัพย์สินอันเป็นหลักประกันแล้ว ขอรับชำระหนี้สำหรับจำนวนที่ยังขาดอยู่..."

บทบัญญัติดังกล่าวแสดงว่าในการใช้สิทธิเหนือทรัพย์สินใดอันเป็นหลักประกันนั้น เจ้าหนี้มีประกันมีสิทธิที่จะเลือกใช้สิทธิตามมาตรา 95 หรือมาตรา 96 มาตราใดมาตราหนึ่งเพียงมาตราเดียวโดยอาจเลือกถือสิทธิเหนือทรัพย์สินอันเป็นหลักประกันของตนนั้นตามมาตรา 95 โดยไม่มาขอรับชำระหนี้ในคดีล้มละลาย หรืออาจใช้สิทธิขอรับชำระหนี้ตามมาตรา 96 อย่างใดอย่างหนึ่งเพียงอย่างเดียวซึ่งหากเจ้าหนี้มีประกันเลือกใช้สิทธิขอรับชำระหนี้ตามมาตรา 96 แล้วก็ย่อมหมดสิทธิที่จะถือสิทธิเหนือทรัพย์สินอันเป็นหลักประกันนั้นอีกต่อไป และต้องขอรับชำระหนี้ทั้งหมดของตนที่มีทรัพย์สินนั้นเป็นหลักประกันภายในกำหนดเวลาสองเดือนนับแต่วันโฆษณาคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์เด็ดขาด อันเป็นกำหนดเวลาให้เจ้าหนี้ยื่นคำขอรับชำระหนี้ตามมาตรา 91 แห่งพระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ. 2483ไม่อาจขอรับชำระหนี้ภายหลังกำหนดเวลานั้นได้ การที่ผู้ร้องซึ่งได้จดทะเบียนรับจำนองที่ดิน 175 โฉนด จากจำเลยที่ 1 เพื่อเป็นหลักประกันในการที่ผู้ร้องอาวัลตั๋วสัญญาใช้เงิน 12 ฉบับ ที่จำเลยที่ 1 ออกให้แก่ผู้อื่น ยื่นคำขอรับชำระหนี้ในฐานะเจ้าหนี้มีประกันในมูลหนี้ตั๋วสัญญาใช้เงิน 11 ฉบับ สำหรับที่ดินที่จำนองเมื่อวันที่ 28 มิถุนายน 2528 นั้น เป็นการที่ผู้ร้องได้เลือกใช้สิทธิขอรับชำระหนี้ในฐานะเจ้าหนี้มีประกันสำหรับที่ดินจำนอง175 โฉนด นั้นตามมาตรา 96(3) แห่งพระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ. 2483แล้ว ผู้ร้องจึงไม่มีสิทธิที่จะถือสิทธิเหนือที่ดินที่จำนองนั้นตามมาตรา 95 แห่งพระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ. 2483 อีกต่อไปและเมื่อผู้ร้องมิได้ยื่นคำขอรับชำระหนี้ในฐานะเจ้าหนี้มีประกันในมูลหนี้ตั๋วสัญญาใช้เงินฉบับที่ 12 สำหรับที่ดิน 175 โฉนดที่จำนองนั้นภายในกำหนดเวลาขอรับชำระหนี้ตามมาตรา 91 แห่งพระราชบัญญัติ ล้มละลาย พ.ศ. 2483 ผู้ร้องก็ไม่มีสิทธิขอรับชำระหนี้นั้นอีกต่อไปด้วย และแม้พนักงานเจ้าหน้าที่ของผู้ร้องไม่ทราบว่าจะต้องยื่นคำขอรับชำระหนี้สำหรับหนี้ดังกล่าวภายในกำหนดเวลาสองเดือน นับแต่วันโฆษณาคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์เด็ดขาดเพราะเข้าใจว่าเป็นหนี้มีบุริมสิทธิ์มีหลักทรัพย์จำนองสามารถยื่นคำขอรับชำระหนี้ในภายหลังได้ตามมาตรา 95 แห่งพระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ. 2483ก็ไม่มีผลทำให้ผู้ร้องมีสิทธิขอรับชำระหนี้ในฐานะเจ้าหนี้มีประกันในมูลหนี้จำนองและอาวัลตั๋วสัญญาใช้เงินฉบับที่ 12 ภายหลังกำหนดเวลาขอรับชำระหนี้ตามพระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ. 2483 มาตรา 91หรือมีสิทธิเหนือที่ดิน 175 โฉนด ซึ่งเป็นทรัพย์สินอันเป็นหลักประกันสำหรับมูลหนี้ดังกล่าวตามพระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ. 2483มาตรา 95 อีกต่อไปแต่อย่างใด ฎีกาของผู้ร้องข้อนี้ฟังไม่ขึ้น

ส่วนที่ผู้ร้องฎีกาว่า มูลหนี้ตามตั๋วสัญญาใช้เงินฉบับที่ 12ที่ผู้ร้องนำมาขอรับชำระหนี้บุริมสิทธิ์เป็นมูลหนี้ที่เกิดขึ้นภายหลังจากศาลมีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์เด็ดขาดโดยผู้ร้องได้ชำระหนี้ตามตั๋วสัญญาใช้เงินนั้นให้แก่โจทก์ในคดีหมายเลขแดงที่ 25922/2526ของศาลชั้นต้นไปเมื่อวันที่ 19 มกราคม 2531 และเกิดสิทธิไล่เบี้ยในวันนั้นเอง จึงมีสิทธินำมูลหนี้ดังกล่าวมาขอรับชำระหนี้บุริมสิทธิ์ในคดีนี้ได้นั้น เห็นว่า พระราชบัญญัติล้มละลายพ.ศ. 2483 มาตรา 101 วรรคหนึ่ง บัญญัติให้สิทธิแก่บุคคลผู้เป็นลูกหนี้ร่วมกับลูกหนี้ในคดีล้มละลายที่จะยื่นคำขอรับชำระหนี้สำหรับจำนวนที่ตนอาจใช้สิทธิไล่เบี้ยในเวลาภายหน้าได้ และวรรคสองของมาตราดังกล่าวให้นำบทบัญญัติดังกล่าวไปใช้บังคับแก่ผู้ค้ำประกันผู้ค้ำประกันร่วม หรือบุคคลที่อยู่ในลักษณะเดียวกันนี้โดยอนุโลมดังนั้น แม้ผู้ร้องซึ่งเป็นผู้อาวัลตั๋วสัญญาใช้เงิน ฉบับที่ 12ที่จำเลยที่ 1 เป็นผู้ออกให้แก่บุคคลอื่น ยังมิได้ชำระเงินตามตั๋วสัญญาใช้เงินนั้นให้แก่ผู้รับเงิน ผู้ร้องก็ชอบที่จะยื่นคำขอรับชำระหนี้สำหรับจำนวนหนี้ตามตั๋วสัญญาใช้เงินฉบับที่ 12ซึ่งผู้ร้องอาจใช้สิทธิไล่เบี้ยแก่จำเลยที่ 1 ในเวลาภายหน้าภายในกำหนดเวลาสองเดือนนับแต่วันโฆษณา คำสั่งพิทักษ์ทรัพย์เด็ดขาดตามพระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ. 2483 มาตรา 91 เมื่อผู้ร้องมิได้ยื่นคำขอรับชำระหนี้สำหรับหนี้ดังกล่าวภายในกำหนดเวลานั้นผู้ร้องจึงไม่มีสิทธิได้รับชำระหนี้สำหรับหนี้ดังกล่าวอีกต่อไปฎีกาของผู้ร้องข้อนี้ฟังไม่ขึ้นเช่นกัน"
พิพากษายืน
พระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ. 2483
มาตรา 91 เจ้าหนี้ซึ่งจะขอรับชำระหนี้ในคดีล้มละลายจะเป็นเจ้าหนี้ผู้เป็นโจทก์หรือไม่ก็ตาม ต้องยื่นคำขอต่อเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ภายในกำหนดเวลาสองเดือนนับแต่วันโฆษณาคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์เด็ดขาด แต่ถ้าเจ้าหนี้อยู่นอกราชอาณาจักร เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์จะขยายกำหนดเวลาให้อีกได้ไม่เกินสองเดือน
คำขอรับชำระหนี้นั้นต้องทำตามแบบพิมพ์ โดยมีบัญชีแสดงรายละเอียดแห่งหนี้สิน และข้อความระบุถึงหลักฐานประกอบหนี้และทรัพย์สินอย่างหนึ่งอย่างใดของลูกหนี้ที่ยึดไว้เป็นหลักประกันหรือตกอยู่ในความครอบครองของเจ้าหนี้

มาตรา 95 เจ้าหนี้มีประกันย่อมมีสิทธิเหนือทรัพย์สินอันเป็นหลักประกันซึ่งลูกหนี้ได้ให้ไว้ก่อนถูกพิทักษ์ทรัพย์โดยไม่ต้องขอรับชำระหนี้ แต่ต้องยอมให้เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ตรวจดูทรัพย์สินนั้น
มาตรา 96 เจ้าหนี้มีประกันอาจขอรับชำระหนี้ได้ภายในเงื่อนไขดังต่อไปนี้
(1) เมื่อยินยอมสละทรัพย์สินอันเป็นหลักประกันเพื่อประโยชน์แก่เจ้าหนี้ทั้งหลายแล้ว ขอรับชำระหนี้ได้เต็มจำนวน
(2) เมื่อได้บังคับเอาแก่ทรัพย์สินอันเป็นหลักประกันแล้ว ขอรับชำระหนี้สำหรับจำนวนที่ยังขาดอยู่
(3) เมื่อได้ขอให้เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ขายทอดตลาดทรัพย์สินอันเป็นหลักประกันแล้ว ขอรับชำระหนี้สำหรับจำนวนที่ยังขาดอยู่
(4) เมื่อตีราคาทรัพย์สินอันเป็นหลักประกันแล้ว ขอรับชำระหนี้สำหรับจำนวนที่ยังขาดอยู่ ในกรณีเช่นนี้เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์มีอำนาจไถ่ถอนทรัพย์สินตามราคานั้นได้ ถ้าเห็นว่าราคานั้นไม่สมควร เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์มีอำนาจขายทรัพย์สินนั้นตามวิธีการที่เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์และเจ้าหนี้ตกลงกัน ถ้าไม่ตกลงกัน จะขายทอดตลาดก็ได้แต่ต้องไม่ให้เสียหายแก่เจ้าหนี้นั้น และเจ้าหนี้หรือเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์มีอำนาจเข้าสู้ราคาในการขายทอดตลาดได้ เมื่อขายได้เงินเป็นจำนวนสุทธิเท่าใด ให้ถือว่าเป็นราคาที่เจ้าหนี้ได้ตีมาในคำขอ
ถ้าเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ไม่แจ้งโดยหนังสือให้เจ้าหนี้ทราบว่าจะใช้สิทธิไถ่ถอนหรือตกลงให้ขายทรัพย์สินอันเป็นหลักประกันภายในกำหนดเวลาสี่เดือนนับแต่วันที่เจ้าหนี้ได้ยื่นคำขอรับชำระหนี้ ให้ถือว่ายินยอมให้ทรัพย์สินนั้นเป็นกรรมสิทธิ์แก่เจ้าหนี้ตามราคาที่เจ้าหนี้ได้ตีมา และเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์หมดสิทธิไถ่ถอนหรือขายทรัพย์สินนั้น
บทบัญญัติแห่งมาตรานี้ไม่ให้ใช้บังคับในกรณีที่ตามกฎหมายลูกหนี้ไม่ต้องรับผิดเกินกว่าราคาทรัพย์สินที่เป็นหลักประกัน
มาตรา 101 ถ้าลูกหนี้ร่วมบางคนถูกพิทักษ์ทรัพย์ ลูกหนี้ร่วมคนอื่นอาจยื่นคำขอรับชำระหนี้สำหรับจำนวนที่ตนอาจใช้สิทธิไล่เบี้ยในเวลาภายหน้าได้ เว้นแต่เจ้าหนี้ได้ใช้สิทธิขอรับชำระหนี้ไว้เต็มจำนวนแล้ว
บทบัญญัติในวรรคก่อนให้ใช้บังคับแก่ผู้ค้ำประกัน ผู้ค้ำประกันร่วม หรือบุคคลที่อยู่ในลักษณะเดียวกันนี้โดยอนุโลม

ทนายความประชาชน
ชมรมปรึกษาคดีฟรี ทั่วประเทศฯ (ช ป.ท.)
hello! I am an admin of the People's Lawyer - Free Legal Consultation Club Nationwide (Chor.Por.T.A.) giving advice - like a relative - free of charge, call or add Line 089 214 2456
สวัสดี! ฉันเป็นแอดมินของทนายอาสา - ชมรมปรึกษาคดีฟรีทั่วประเทศฯ (ช.ป.ท.) ให้คำปรึกษา- ดุจญาติมิตร - ไม่คิดค่าใช้จ่าย โทร.หรือ แอดไลน์ 089 214 2456


X
ติดตั้ง แอพพลิเคชั่น บนมือถือ

🌈👉ติดตั้ง แอปพลิเคชัน👈🌈

💖⚖️“ (ทนายความประชาชน) ”⚖️💖

https://play.google.com/store/apps/

X
ติดตั้ง แอพพลิเคชั่น บนมือถือ