ฟ้องขอให้พิพากษาเพิกถอนสิทธิบัตร

การยื่นคำขอรับสิทธิบัตรความคุ้มครองในเรื่องของผลิตภัณฑ์ กรรมวิธี และการใช้สิ่งประดิษฐ์เสื่อกก ของจำเลยไม่ปรากฏในข้อถือสิทธิที่ทำให้การทอเสื่อจากต้นกกของจำเลยเป็นผลิตภัณฑ์ใหม่ เพราะไม่ว่าจะเป็นต้นกกชนิดใด ๆ ก็ถือเป็นวัชพืชที่ใช้ทดแทนกับวัสดุอื่นเพื่อใชในการทอเสื่อได้อยู่แล้ว ดังนั้นสิ่งประดิษฐ์เสื่อกกของจำเลยมีหรือใช้เป็นที่รู้จักแพร่หลายอยู่แล้วก่อนวันขอรับสิทธิบัตรจำเลยย่อมไม่อาจได้รับสิทธิบัตรในผลิตภัณฑ์เสื่อ
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7119/2552

จำเลยยื่นคำขอรับสิทธิบัตรความคุ้มครองในเรื่องของผลิตภัณฑ์ กรรมวิธี และการใช้สิ่งประดิษฐ์เสื่อกก โดยมีข้อถือสิทธิว่า “1.การใช้เสื่อปูรองหรือหีบห่อสินค้าที่ลงระวางในเรือบรรทุกสินค้า เพื่อกั้นและดูดซับความชื้นโดยเสื่อนี้ทอขึ้นจาก (ก) ต้นธูปฤาษี กกรังกา และ/หรือกกกลม ชนิดใดชนิดหนึ่งหรือมากกว่าโดยปราศจากการลอกโครงสร้างภายนอก (ข) เส้นเอ็นสังเคราะห์หรือเส้นด้าย” แต่กรมทรัพย์สินทางปัญญาจำกัดขอบเขตการคุ้มครองไว้เพียงเรื่องของการใช้ผลิตภัณฑ์ ในขณะที่โจทก์กล่าวอ้างว่าสิทธิบัตรของจำเลยเป็นสิทธิบัตรเพื่อการใช้ ซึ่งไม่ได้รับความคุ้มครองตาม พ.ร.บ.สิทธิบัตร พ.ศ.2522 ในเรื่องของสิทธิบัตรการใช้ใหม่ (New Use Patent) นั้น ตาม พ.ร.บ.สิทธิบัตร พ.ศ.2522 ได้นิยามศัพท์คำว่า “สิทธิบัตร” คือหนังสือสำคัญที่ออกให้เพื่อคุ้มครองการประดิษฐ์หรือการออกแบบผลิตภัณฑ์ และ “การประดิษฐ์” คือ การคิดค้นหรือคิดทำขึ้นอันเป็นผลให้ได้มาซึ่งผลิตภัณฑ์หรือกรรมวิธีใดขึ้นใหม่ หรือการกระทำใดๆ ที่ทำให้ดีขึ้นซึ่งผลิตภัณฑ์หรือกรรมวิธี ทั้งได้บัญญัติถึงสิทธิของผู้ทรงสิทธิบัตรไว้ในมาตรา 36 ว่า ผู้ทรงสิทธิบัตรเท่านั้นมีสิทธิดังต่อไปนี้ (1) ในกรณีสิทธิบัตรผลิตภัณฑ์ หมายถึง สิทธิในการผลิต ใช้ ขาย มีไว้เพื่อขายเสนอขาย หรือนำเข้ามาในราชอาณาจักรซึ่งผลิตภัณฑ์ตามสิทธิบัตร (2) ในกรณีสิทธิบัตรกรรมวิธี หมายถึง สิทธิในการใช้กรรมวิธีตามสิทธิบัตร ผลิต ใช้ ขาย มีไว้เพื่อขาย เสนอขาย หรือนำเข้ามาในราชอาณาจักรซึ่งผลิตภัณฑ์ที่ผลิตโดยใช้กรรมวิธีตามสิทธิบัตร จะเห็นได้ว่า กฎหมายดังกล่าวไม่ได้บัญญัติถึงการให้สิทธิบัตรในส่วนของการใช้ใหม่ของการประดิษฐ์ที่รู้จักอยู่แล้วไว้เป็นพิเศษต่างหากโดยชัดแจ้ง ทั้งไม่ได้บัญญัติถึงสิทธิของผู้ทรงสิทธิบัตรการใช้ในลักษณะดังกล่าวแต่อย่างใด สิทธิบัตรของจำเลยจึงไม่อาจถือได้ว่าเป็นการออกให้แก่การใช้ใหม่ (New Use Patent) เพราะไม่มีบทกฎหมายรับรอง

โจทก์ฟ้องและแก้ไขคำฟ้องขอให้พิพากษาเพิกถอนสิทธิบัตรของจำเลยทะเบียนหมายเลขที่ 8871 ออกจากสารบบทะเบียนสิทธิบัตรของกรมทรัพย์สินทางปัญญา
จำเลยให้การขอให้ยกฟ้อง

ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางพิพากษาว่า สิทธิบัตรหมายเลขที่ 8871 ออกไปโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย และให้เพิกถอนสิทธิบัตรหมายเลขที่ 8871 ค่าฤชาธรรมเนียมให้เป็นพับ
จำเลยอุทธรณ์ต่อศาลฎีกา

ศาลฎีกาแผนกคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศวินิจฉัยว่า... ปัญหาที่ต้องวินิจฉัยตามอุทธรณ์ของจำเลยประการสุดท้ายมีว่า สิทธิบัตรของจำเลยออกโดยชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ เห็นว่า ในเรื่องของสิทธิบัตรการใช้ใหม่ (New use patent) นั้น ตามพระราชบัญญัติสิทธิบัตร พ.ศ.2522 ได้ให้นิยามศัพท์คำว่า “สิทธิบัตร” คือ หนังสือสำคัญที่ออกให้เพื่อคุ้มครองการประดิษฐ์หรือการออกแบบผลิตภัณฑ์ และ “การประดิษฐ์” คือ การคิดค้นหรือคิดทำขึ้นอันเป็นผลให้ได้มาซึ่งผลิตภัณฑ์หรือกรรมวิธีใดขึ้นใหม่ หรือการกระทำใด ๆ ที่ทำให้ดีขึ้นซึ่งผลิตภัณฑ์หรือกรรมวิธี ทั้งได้บัญญัติถึงสิทธิของผู้ทรงสิทธิบัตรไว้ในมาตรา 36 ว่า ผู้ทรงสิทธิบัตรเท่านั้นมีสิทธิดังต่อไปนี้ (1) ในกรณีสิทธิบัตรผลิตภัณฑ์ หมายถึง สิทธิในการผลิต ใช้ ขาย มีไว้เพื่อขาย เสนอขาย หรือนำเข้ามาในราชอาณาจักรซึ่งผลิตภัณฑ์ตามสิทธิบัตร (2) ในกรณีสิทธิบัตรกรรมวิธี หมายถึง สิทธิในการใช้กรรมวิธีตามสิทธิบัตร ผลิต ใช้ ขาย มีไว้เพื่อขาย เสนอขาย หรือนำเข้ามาในราชอาณาจักรซึ่งผลิตภัณฑ์ที่ผลิตโดยใช้กรรมวิธีตามสิทธิบัตร จะเห็นได้ว่า กฎหมายดังกล่าวไม่ได้บัญญัติถึงการให้สิทธิบัตรในส่วนของการใช้ใหม่ของการประดิษฐ์ที่รู้จักอยู่แล้วไว้เป็นพิเศษต่างหากโดยชัดแจ้ง ทั้งไม่ได้บัญญัติถึงสิทธิของผู้ทรงสิทธิบัตรการใช้ในลักษณะดังกล่าวแต่อย่างใดกรณีไม่อาจแปลความพระราชบัญญัติสิทธิบัตร พ.ศ.2522 ไปได้เช่นนั้นตามที่นางสาวดุษณีย์พยานโจทก์ซึ่งรับราชการสังกัดกรมทรัพย์สินทางปัญญา กระทรวงพาณิชย์และเป็นผู้ตรวจสอบคำขอรับสิทธิบัตร ได้เบิกความว่า การประดิษฐ์แบ่งออกได้เป็น 3 ประเภท คือ ผลิตภัณฑ์ กรรมวิธีหรือวิธีการหรือการเตรียม และการใช้ อนึ่ง กฎกระทรวง ฉบับที่ 21 (พ.ศ.2542) ออกตามความในพระราชบัญญัติสิทธิบัตร พ.ศ.2522 ข้อ 5 นั้น เป็นการระบุถึงข้อถือสิทธิว่า คำขอรับสิทธิบัตรที่ระบุข้อถือสิทธิดังต่อไปนี้ ให้ถือว่าเป็นคำขอรับสิทธิบัตรสำหรับการประดิษฐ์อย่างเดียว (1) ข้อถือสิทธิหลักที่ระบุผลิตภัณฑ์ที่ขอรับความคุ้มครอง และระบุกรรมวิธีในการผลิตและการใช้ผลิตภัณฑ์นั้นไว้ในข้อถือสิทธิหลักข้ออื่น (2) ข้อถือสิทธิหลักที่ระบุถึงกรรมวิธีใดที่ขอรับความคุ้มครอง และระบุอุปกรณ์และหรือเครื่องมือที่ใช้กับกรรมวิธีนั้น ยังไม่อาจถือว่า ข้อความตามข้อ 5 (1) ข้างต้น หมายความว่า การประดิษฐ์แบ่งออกได้เป็น 3 ประเภท ดังนั้น สิทธิบัตรของจำเลยจึงไม่อาจถือได้ว่าเป็นการออกให้แก่การใช้ใหม่ (New use patent) เพราะไม่มีบทกฎหมายรับรอง

ส่วนปัญหาว่า สิทธิบัตรของจำเลยดังกล่าวจะได้รับความคุ้มครองในเรื่องของสิทธิบัตรผลิตภัณฑ์ หรือกรรมวิธี หรือไม่ เห็นว่า ในกรณีของสิทธิบัตรผลิตภัณฑ์นั้น แม้จำเลยจะนำสืบในทำนองว่า จำเลยเป็นผู้คิดค้นและใช้ต้นกกช้างหรือต้นธูปฤาษีมาทอเสื่อ แต่ตามสิทธิบัตรของจำเลยในข้อถือสิทธิระบุว่า เสื่อทอขึ้นจากต้นธูปฤาษี กกสามเหลี่ยม หรือกกรังกา และหรือกกกลม ชนิดใดชนิดหนึ่งหรือมากกว่า โดยปราศจากการลอกโครงสร้างภายนอก จึงแสดงว่าจำเลยขอรับสิทธิบัตรเพื่อคุ้มครองการประดิษฐ์ของตนคือ การใช้ต้นธูปฤาษี กกสามเหลี่ยม หรือกกรังกา และหรือกกกลม ชนิดใดชนิดหนึ่งหรือมากกว่าในการทอเสื่อ ซึ่งเป็นสิทธิแต่ผู้เดียวที่บุคคลอื่นจะใช้วัสดุดังกล่าวในการทอเสื่อไม่ได้ แต่ในทางกลับกัน การที่จำเลยระบุข้อถือสิทธิในลักษณะ เช่นนี้ หากเคยมีการทอเสื่อโดยใช้วัสดุเหล่านี้มาก่อน เท่ากับว่าการประดิษฐ์ของจำเลยเคยมีอยู่แล้วและไม่มีความใหม่ ซึ่งตามพยานหลักฐานของโจทก์แสดงว่า ผลิตภัณฑ์เสื่อมีมาเป็นเวลานานแล้ว โดยมีการใช้ต้นกกในการทอเสื่อดังกล่าว รวมถึงต้นกกช้างหรือต้นธูปฤาษีใบผือ ต้นกกสามเหลี่ยม และกกไตหย่าหรือกกกลมด้วย นอกจากนี้นางสาวดุษณีย์เบิกความด้วยว่า ต้นกกที่ต่างกันไม่เป็นคุณสมบัติที่จะขอรับสิทธิบัตรได้เมื่อพิจารณาสิทธิบัตรของจำเลยในส่วนของรายละเอียดของการประดิษฐ์ข้อ 2 เรื่อง ลักษณะและความมุ่งหมายของการประดิษฐ์โดยย่อ ก็ระบุว่า “ต้นธูปฤาษี” ในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ เรียกว่า “ผือ” หรือ “กกช้าง” ซึ่งต้นกกช้างหรือต้นธูปฤาษี หรือกกชนิดอื่นๆ นั้นเป็นวัชพืชที่ใช้ทดแทนกับวัสดุอื่นเพื่อใช้ในการทอเสื่อได้อยู่แล้ว ทำให้น่าเชื่อว่าเสื่อที่ทอขึ้นจากวัสดุดังกล่าวมีหรือใช้เป็นที่รู้จักแพร่หลายอยู่แล้วในประเทศไทยก่อนวันที่จำเลยขอรับสิทธิบัตร เพราะฉะนั้น การที่จำเลยใช้ต้นกกช้าง หรือต้นธูปฤาษีหรือกกชนิดอื่น ๆ ตามที่ปรากฏในข้อถือสิทธิมาทอเสื่อจึงไม่ทำให้เสื่อดังกล่าวเป็นผลิตภัณฑ์ใหม่ จำเลยย่อมไม่อาจได้รับสิทธิบัตรในผลิตภัณฑ์เสื่อ

สำหรับกรณีสิทธิบัตรกรรมวิธีนั้น อาจพิจารณาว่าเป็นกรรมวิธีในการกั้นและดูดซับความชื้นโดยการใช้ผลิตภัณฑ์เสื่อของจำเลย อย่างไรก็ดี โจทก์นำสืบพยานหลักฐานต่าง ๆ ในทำนองว่า มีการใช้เสื่อกกปูรองระวางเรือสินค้าเพื่อเป็นการระบายอากาศ และสิทธิบัตรของจำเลยไม่ชอบด้วยกฎหมาย ซึ่งข้อถือสิทธิตามที่ระบุไว้ในสิทธิบัตรของจำเลยนั้น ก็ไม่มีข้อความเกี่ยวกับกรรมวิธีในการผลิตเสื่อ หรือกรรมวิธีในการกั้นและดูดซับความชื้นอันเป็นลักษณะของการประดิษฐ์ไว้แล้ว จึงไม่ปรากฏว่าจำเลยจะได้รับความคุ้มครองในลักษณะของสิทธิบัตรกรรมวิธีได้อย่างไร นอกจากนั้น ตามสิทธิบัตรของจำเลย ข้อ 4 เรื่อง การเปิดเผยการประดิษฐ์โดยสมบูรณ์ ซึ่งอธิบายเกี่ยวกับการผลิตเสื่อ ก็ไม่ปรากฏว่ามีขั้นตอนของกรรมวิธีที่ใหม่เช่นใด ทางนำสืบของจำเลยเองก็เห็นว่า จำเลยนำต้นกกช้างหรือต้นธูปฤาษีมาใช้ในการทอเสื่อนั้นโดยไม่ได้มีวิธีการพิเศษอื่นใด กล่าวคือ นายเสน่ห์เบิกความว่า เดิมชาวบ้านทอเสื่อจากต้นกกทั้งต้น แต่จำเลยแนะนำให้ผ่าต้นกกเป็น 2 ส่วน จะทำให้ได้เสื่อเพิ่มขึ้น และตอบทนายโจทก์ถามค้านว่าการผ่าต้นกกทำได้ง่าย ต้นกกทั้งต้นจะทอเสื่อได้ง่ายกว่าต้นกกที่ผ่าเป็น 2 ส่วน ในการทอเสื่อจะต้องนำต้นกกไปตากแห้งก่อน หากเสื่อเปียกน้ำพยานคิดว่าเสื่อทั้งสองแบบเปียกน้ำได้พอกันนางน้อยเบิกความว่า เสื่อแบบของจำเลยทอได้ง่ายและเร็วกว่า แต่ตอบทนายโจทก์ถามค้านว่า พยานไม่เคยทอเสื่อเพียงซื้อมาขายไปเท่านั้น นายเริงชัยเบิกความว่าเสื่อกกของจำเลยดีกว่าเสื่อไม้ไผ่เพราะได้พื้นที่มากกว่า ส่วนจำเลยได้เบิกความถึงรายละเอียดในการทำเสื่อรำแพน การทอเสื่อกกกลม การทอเสื่อกกสามเหลี่ยม และการทอเสื่อจากต้นกกช้างหรือต้นธูปฤาษี ซึ่งมีเครื่องทอเสื่อแบบใหม่ อย่างไรก็ตาม จำเลยเบิกความตอบทนายโจทก์ถามค้านว่า การผึ่งแดดเพื่อให้ต้นกกแห้งไม่มีเทคนิคหรือวิธีการพิเศษใด ๆ การทอเสื่อของชาวบ้านนอกจากการผ่าครึ่งและการลดจำนวนเส้นเอ็นแล้ว ไม่มีวิธีการใด ๆ เป็นพิเศษ คงเหมือนวิธีการดั้งเดิมที่ชาวบ้านเคยทอเสื่อกันมา ต้นกกขึ้นโดยธรรมชาติไม่มีการนำไปชุบน้ำยาพิเศษ การทอเสื่อมีเทคนิคพิเศษตามที่จำเลยแนะนำชาวบ้านคือ ทำให้ยาวขึ้นเพื่อให้ได้เนื้อเสื่อต่อผืนมากขึ้น จึงไม่ปรากฏว่าการทอเสื่อของจำเลยมีความใหม่อย่างใด ส่วนเรื่องคุณสมบัติในการกั้นและดูดซับความชื้นที่จำเลยกล่าวอ้างนั้น จำเลยเบิกความว่าจำเลยนำต้นกกดังกล่าวไปตากแดดใช้เวลา 3 ถึง 4 วัน จนแห้งและเหลือง แล้วทำการทดลองโดยการใช้ขวดแก้วพร้อมฝาปิดสนิท 2 ใบ ใบหนึ่งนำต้นกกดังกล่าวตัดเป็นชิ้นเล็ก ๆ ไม่ลอกโครงสร้างภายในออกใส่ไว้ ส่วนอีกใบหนึ่งเป็นขวดเปล่า ปิดฝาให้สนิททั้งสองขวด นำไปใส่ตู้กระจกโดยมีของหนักทับไว้ และเทน้ำเย็นลงไปในตู้กระจก ทิ้งไว้ประมาณครึ่งชั่วโมง พบว่าขวดแก้วเปล่าจะมีลักษณะมัวเห็นเป็นหยดน้ำเกาะตามผนังขวด สำหรับขวดที่ใส่ต้นกกดังกล่าวไว้มีความใสสว่าง ไม่มีหยดน้ำเกาะตามผนังขวดและจำเลยได้เคยให้กรมวิทยาศาสตร์บริการทำการวิเคราะห์ตรวจสอบ เห็นว่า การทดลองดังกล่าวของจำเลยเป็นการนำต้นกกช้างหรือต้นธูปฤาษีในลักษณะที่เป็นวัตถุดิบตามธรรมชาติไปทำการทดลอง โดยไม่มีรายละเอียดในขั้นตอนใดที่เป็นพิเศษ จึงน่าจะเป็นคุณสมบัติของต้นกกช้างหรือต้นธูปฤาษีที่จำเลยค้นพบมากกว่าจะเป็นสิ่งที่จำเลยประดิษฐ์คิดค้นขึ้น เมื่อเป็นเช่นนี้ สิทธิบัตรของจำเลยจึงไม่อาจพิจารณาให้ความคุ้มครองในเรื่องของสิทธิบัตรผลิตภัณฑ์หรือกรรมวิธีได้ ที่ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางวินิจฉัยให้เพิกถอนสิทธิบัตรของจำเลยมานั้น ศาลฎีกาแผนกคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศเห็นพ้องด้วยในผล อุทธรณ์ของจำเลยข้อนี้ฟังไม่ขึ้นเช่นกัน

พิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมในชั้นนี้ให้เป็นพับ
( บุญรอด ตันประเสริฐ - พลรัตน์ ประทุมทาน - รัตน กองแก้ว )
ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลาง - นายวราคมน์ เลี้ยงพันธุ์

พ.ร.บ.สิทธิบัตร พ.ศ.2522 มาตรา 3, 36
มาตรา 3 ในพระราชบัญญัตินี้
“สิทธิบัตร” หมายความว่า หนังสือสำคัญที่ออกให้เพื่อคุ้มครองการประดิษฐ์หรือการออกแบบผลิตภัณฑ์ ตามที่กำหนดในหมวด 2 และหมวด 3 แห่งพระราชบัญญัตินี้
“อนุสิทธิบัตร” หมายความว่า หนังสือสำคัญที่ออกให้เพื่อคุ้มครองการประดิษฐ์ตามที่กำหนดในหมวด 3 ทวิ แห่งพระราชบัญญัตินี้
“การประดิษฐ์” หมายความว่า การคิดค้นหรือคิดทำขึ้น อันเป็นผลให้ได้มาซึ่งผลิตภัณฑ์หรือกรรมวิธีใดขึ้นใหม่ หรือการกระทำใดๆ ที่ทำให้ดีขึ้นซึ่งผลิตภัณฑ์หรือกรรมวิธี
“กรรมวิธี” หมายความว่า วิธีการ กระบวนการ หรือกรรมวิธีในการผลิตหรือการเก็บรักษาให้คงสภาพหรือให้มีคุณภาพดีขึ้นหรือการปรับสภาพให้ดีขึ้นซึ่งผลิตภัณฑ์และรวมถึงการใช้กรรมวิธีนั้นๆ ด้วย
“แบบผลิตภัณฑ์” หมายความว่า รูปร่างของผลิตภัณฑ์ หรือองค์ประกอบของลวดลาย หรือสีของผลิตภัณฑ์ อันมีลักษณะพิเศษสำหรับผลิตภัณฑ์ซึ่งสามารถใช้เป็นแบบสำหรับผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรมรวมทั้งหัตถกรรมได้
“ผู้ทรงสิทธิบัตร” หมายความรวมถึงผู้รับโอนสิทธิบัตร
“ผู้ทรงอนุสิทธิบัตร” หมายความรวมถึงผู้รับโอนอนุสิทธิบัตร
“คณะกรรมการ” หมายความว่า คณะกรรมการสิทธิบัตร
“พนักงานเจ้าหน้าที่” หมายความว่า ผู้ซึ่งรัฐมนตรีแต่งตั้งให้ปฏิบัติการตามพระราชบัญญัตินี้
“อธิบดี” หมายความว่า อธิบดีกรมทรัพย์สินทางปัญญา และให้หมายความรวมถึงผู้ซึ่งอธิบดีกรมทรัพย์สินทางปัญญามอบหมายด้วย
“รัฐมนตรี” หมายความว่า รัฐมนตรีผู้รักษาการตามพระราชบัญญัตินี้

มาตรา 36 ผู้ทรงสิทธิบัตรเท่านั้นมีสิทธิดังต่อไปนี้
(1) ในกรณีสิทธิบัตรผลิตภัณฑ์ สิทธิในการผลิต ใช้ ขาย มีไว้เพื่อขาย เสนอขายหรือนำเข้ามาในราชอาณาจักรซึ่งผลิตภัณฑ์ตามสิทธิบัตร
(2) ในกรณีสิทธิบัตรกรรมวิธี สิทธิในการใช้กรรมวิธีตามสิทธิบัตร ผลิต ใช้ ขาย มีไว้เพื่อขาย เสนอขายหรือนำเข้ามาในราชอาณาจักรซึ่งผลิตภัณฑ์ที่ผลิตโดยใช้กรรมวิธีตามสิทธิบัตร
ความในวรรคหนึ่งไม่ใช้บังคับแก่
(1) การกระทำใดๆ เพื่อประโยชน์ในการศึกษา ค้นคว้า ทดลอง หรือวิจัย ทั้งนี้ ต้องไม่ขัดต่อการใช้ประโยชน์ตามปกติของผู้ทรงสิทธิบัตร และไม่ทำให้เสื่อมเสียต่อประโยชน์อันชอบธรรมของผู้ทรงสิทธิบัตรเกินสมควร
(2) การผลิตผลิตภัณฑ์หรือใช้กรรมวิธีดังที่ผู้ทรงสิทธิบัตรได้จดทะเบียนไว้ ซึ่งผู้ผลิตผลิตภัณฑ์หรือผู้ใช้กรรมวิธีดังกล่าวได้ประกอบกิจการหรือมีเครื่องมือเครื่องใช้เพื่อประกอบกิจการดังกล่าวโดยสุจริตก่อนวันยื่นขอรับสิทธิบัตรในราชอาณาจักร โดยผู้ผลิตหรือผู้ใช้กรรมวิธีไม่รู้หรือไม่มีเหตุอันควรรู้ถึงการจดทะเบียนนั้น ทั้งนี้ โดยไม่อยู่ภายใต้บังคับแห่งมาตรา 19ทวิ
(3) การเตรียมยาเฉพาะรายตามใบสั่งแพทย์ โดยผู้ประกอบวิชาชีพเวชกรรม หรือผู้ประกอบโรคศิลปะ รวมทั้งการกระทำต่อผลิตภัณฑ์ยาดังกล่าว
(4) การกระทำใดๆ เกี่ยวกับการขอขึ้นทะเบียนยา โดยผู้ขอมีวัตถุประสงค์ที่จะผลิต จำหน่าย หรือนำเข้าซึ่งผลิตภัณฑ์ยาตามสิทธิบัตรหลังจากสิทธิบัตรดังกล่าวสิ้นอายุลง
(5) การใช้อุปกรณ์ซึ่งเป็นการประดิษฐ์ที่ได้รับสิทธิบัตรที่เกี่ยวกับตัวเรือ เครื่องจักร หรืออุปกรณ์อื่นของเรือของประเทศที่เป็นภาคีแห่งอนุสัญญาหรือความตกลงระหว่างประเทศเกี่ยวกับการคุ้มครองสิทธิบัตรซึ่งประเทศไทยเป็นภาคีอยู่ด้วย ในกรณีที่เรือดังกล่าวได้เข้ามาในราชอาณาจักรเป็นการชั่วคราวหรือโดยอุบัติเหตุ และจำเป็นต้องใช้อุปกรณ์ดังกล่าวกับเรือนั้น
(6) การใช้อุปกรณ์ซึ่งเป็นการประดิษฐ์ที่ได้รับสิทธิบัตรที่เกี่ยวกับการสร้างการทำงาน หรืออุปกรณ์อื่นของอากาศยาน หรือยานพาหนะของประเทศที่เป็นภาคีแห่งอนุสัญญาหรือความตกลงระหว่างประเทศเกี่ยวกับการคุ้มครองสิทธิบัตรซึ่งประเทศไทยเป็นภาคีอยู่ด้วย ในกรณีที่อากาศยานหรือยานพาหนะดังกล่าวได้เข้ามาในราชอาณาจักรเป็นการชั่วคราวหรือโดยอุบัติเหตุ
(7) การใช้ ขาย มีไว้เพื่อขาย เสนอขาย หรือนำเข้ามาในราชอาณาจักร ซึ่งผลิตภัณฑ์ตามสิทธิบัตร หากผู้ทรงสิทธิบัตรได้อนุญาต หรือยินยอมให้ผลิต หรือขายผลิตภัณฑ์ดังกล่าวแล้ว

ทนายความประชาชน
ชมรมปรึกษาคดีฟรี ทั่วประเทศฯ (ช ป.ท.)
hello! I am an admin of the People's Lawyer - Free Legal Consultation Club Nationwide (Chor.Por.T.A.) giving advice - like a relative - free of charge, call or add Line 089 214 2456
สวัสดี! ฉันเป็นแอดมินของทนายอาสา - ชมรมปรึกษาคดีฟรีทั่วประเทศฯ (ช.ป.ท.) ให้คำปรึกษา- ดุจญาติมิตร - ไม่คิดค่าใช้จ่าย โทร.หรือ แอดไลน์ 089 214 2456


X
ติดตั้ง แอพพลิเคชั่น บนมือถือ

🌈👉ติดตั้ง แอปพลิเคชัน👈🌈

💖⚖️“ (ทนายความประชาชน) ”⚖️💖

https://play.google.com/store/apps/

X
ติดตั้ง แอพพลิเคชั่น บนมือถือ