ศาลอุทธรณ์วินิจฉัย ว่าฟ้องโจทก์เป็นฟ้องที่ขาดข้อเท็จจริงอันเป็นองค์ประกอบของความผิดตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 158 (5) พิพากษายกฟ้อง ศาลฎีกาเห็นว่า แม้โจทก์มิได้บรรยายฟ้องว่า จำเลยรู้ว่าคนต่างด้าวเข้ามาในราชอาณาจักรโดยฝ่าฝืนพระราชบัญญัติคนเข้าเมือง พ.ศ.2522 ก็ตาม แต่ฟ้องระบุว่าจำเลยได้บังอาจช่วยเหลือซ่อนเร้นคนต่างด้าวย่อมแสดงอยู่ในตัวว่าจำเลยรู้ว่าคนต่างด้าวนั้นเข้ามาในราชอาณาจักรโดยฝ่าฝืนกฎหมาย
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 144/2552
พนักงานอัยการจังหวัดสมุทรสาคร โจทก์
โจทก์มิได้บรรยายฟ้องว่า จำเลยรู้ว่าคนต่างด้าวเข้ามาในราชอาณาจักรโดยฝ่าฝืน พ.ร.บ.คนเข้าเมือง พ.ศ.2522 แต่การที่ฟ้องโจทก์ระบุว่า จำเลยได้บังอาจช่วยเหลือซ่อนเร้นคนต่างด้าวที่เข้ามาในราชอาณาจักรโดยฝ่าฝืนต่อ พ.ร.บ.คนเข้าเมือง พ.ศ.2522 อันเป็นการช่วยด้วยประการใดๆ เพื่อให้คนต่างด้าวดังกล่าวพ้นจากการจับกุมก็ย่อมแสดงอยู่ในตัวว่าจำเลยรู้ว่าคนต่างด้าวนั้นเข้ามาในราชอาณาจักรโดยฝ่าฝืนกฎหมาย ฟ้องโจทก์จึงครบองค์ประกอบความผิดตาม พ.ร.บ.คนเข้าเมือง พ.ศ.2522 มาตรา 64 วรรคหนึ่ง และเป็นฟ้องที่ชอบด้วย ป.วิ.อ. มาตรา 158 (5)
โจทก์ฟ้องว่า เมื่อวันที่ 21 มกราคม (น่าจะปี 2550) เวลากลางวันจำเลยได้บังอาจช่วยเหลือ ซ่อนเร้นนายชัช ไม่มีชื่อสกุล กับพวกรวม 15 คน ซึ่งเป็นคนต่างด้าวเชื้อชาติพม่า สัญชาติพม่า ที่เข้ามาในราชอาณาจักรโดยฝ่าฝืนพระราชบัญญัติคนเข้าเมือง พ.ศ.2522 โดยซ่อนเร้นและรับคนต่างด้าวดังกล่าวขึ้นรถยนต์ หมายเลขทะเบียน ออ 8692 กรุงเทพมหานคร ที่จำเลยเป็นผู้ขับ จากตำบลมหาชัย อำเภอเมืองสมุทรสาคร จังหวัดสมุทรสาคร ไปตามถนนเดิมบาง-บ้านขอม มุ่งหน้าไปตำบลคอกกระบือ อำเภอเมืองสมุทรสาคร จังหวัดสมุทรสาคร เพื่อให้คนต่างด้าวดังกล่าวพ้นจากการจับกุม ขอให้ลงโทษตามพระราชบัญญัติคนเข้าเมือง พ.ศ.2522 มาตรา 64
จำเลยให้การรับสารภาพ
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามพระราชบัญญัติคนเข้าเมือง พ.ศ.2522 มาตรา 64 (ที่ถูก มาตรา 64 วรรคหนึ่ง) จำคุก 6 เดือน และปรับ 20,000 บาท จำเลยให้การรับสารภาพเป็นประโยชน์แก่การพิจารณา มีเหตุบรรเทาโทษลดโทษให้กึ่งหนึ่งตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 คงจำคุก 3 เดือน และปรับ 10,000 บาท โทษจำคุกให้รอการลงโทษไว้ 2 ปี ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 56 ไม่ชำระค่าปรับให้จัดการตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 29, 30
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 7 พิพากษากลับ ให้ยกฟ้อง
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “มีปัญหาที่ต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ว่า ฟ้องโจทก์ชอบด้วยประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 158 (5) หรือไม่ โจทก์บรรยายฟ้องว่า จำเลยได้บังอาจช่วยเหลือ ซ่อนเร้น นายชัช ไม่มีชื่อสกุล กับพวกรวม 15 คน ซึ่งเป็นคนต่างด้าวเชื้อชาติพม่า สัญชาติพม่า ที่เข้ามาในราชอาณาจักรโดยฝ่าฝืนพระราชบัญญัติคนเข้าเมือง พ.ศ.2522 ได้บังอาจซ่อนเร้นและรับคนต่างด้าวขึ้นรถยนต์ที่จำเลยเป็นผู้ขับ ไปตามถนนเดิมบาง-บ้านขอม อันเป็นการช่วยด้วยประการใดๆ เพื่อให้คนต่างด้าวดังกล่าวพ้นจากการจับกุม เห็นว่า แม้โจทก์มิได้บรรยายฟ้องว่า จำเลยรู้ว่าคนต่างด้าวเข้ามาในราชอาณาจักรโดยฝ่าฝืนพระราชบัญญัติคนเข้าเมือง พ.ศ.2522 ก็ตาม แต่การที่ฟ้องโจทก์ระบุว่า จำเลยได้บังอาจช่วยเหลือซ่อนเร้นคนต่างด้าวที่เข้ามาในราชอาณาจักรโดยฝ่าฝืนต่อพระราชบัญญัติคนเข้าเมือง พ.ศ.2522 อันเป็นการช่วยด้วยประการใดๆ เพื่อให้คนต่างด้าวดังกล่าวพ้นจากการจับกุมก็ย่อมแสดงอยู่ในตัวว่าจำเลยรู้ว่าคนต่างด้าวนั้นเข้ามาในราชอาณาจักรโดยฝ่าฝืนกฎหมายฟ้องโจทก์จึงครบองค์ประกอบความผิดตามพระราชบัญญัติคนเข้าเมือง พ.ศ.2522 มาตรา 64 วรรคหนึ่ง และเป็นฟ้องที่ชอบด้วยประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 158 (5) ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 7 พิพากษายกฟ้องโจทก์โดยเห็นว่าเป็นฟ้องที่ขาดข้อเท็จจริงอันเป็นองค์ประกอบของความผิดตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 158 (5) นั้น ไม่ต้องด้วยความเห็นของศาลฎีกา ฎีกาของโจทก์ฟังขึ้น แต่เมื่อศาลอุทธรณ์ภาค 7 ยังมิได้วินิจฉัยปัญหาที่โจทก์อุทธรณ์ ทั้งเป็นคดีที่หากศาลอุทธรณ์ภาค 7 วินิจฉัยแล้ว อาจนำไปสู่การจำกัดสิทธิในการฎีกาของคู่ความได้ จึงให้ย้อนสำนวนไปให้ศาลอุทธรณ์ภาค 7 พิจารณาและพิพากษาใหม่ตามรูปคดี ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 208 (2) ประกอบด้วยมาตรา 225”
พิพากษายกคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 7 ให้ศาลอุทธรณ์ภาค 7 พิจารณาพิพากษาใหม่ตามรูปคดี
( ศุภชัย สมเจริญ - เฉลิมเกียรติ ชาญศิลป์ - สนอง เล่าศรีวรกต )
ป.วิ.อ. มาตรา 158
มาตรา 158 ฟ้องต้องทำเป็นหนังสือ และมี
(1) ชื่อศาลและวันเดือนปี
(2) คดีระหว่างผู้ใดโจทก์ ผู้ใดจำเลย และฐานความผิด
(3) ตำแหน่งพนักงานอัยการผู้เป็นโจทก์ ถ้าราษฎรเป็นโจทก์ ให้ใส่ชื่อตัว นามสกุล อายุ ที่อยู่ ชาติและบังคับ
(4) ชื่อตัว นามสกุล ที่อยู่ ชาติและบังคับของจำเลย
(5) การกระทำทั้งหลายที่อ้างว่าจำเลยได้กระทำผิด ข้อเท็จจริง และรายละเอียดที่เกี่ยวกับเวลาและสถานที่ซึ่งเกิดการกระทำนั้น ๆ อีกทั้งบุคคลหรือสิ่งของที่เกี่ยวข้องด้วยพอสมควรเท่าที่จะให้จำเลย เข้าใจข้อหาได้ดี
ในคดีหมิ่นประมาท ถ้อยคำพูด หนังสือ ภาพขีดเขียนหรือสิ่งอื่น อันเกี่ยวกับข้อหมิ่นประมาท ให้กล่าวไว้โดยบริบูรณ์หรือติดมาท้ายฟ้อง
(6) อ้าง มาตรา กฎหมายซึ่งบัญญัติว่าการกระทำเช่นนั้นเป็น ความผิด
(7) ลายมือชื่อโจทก์ ผู้เรียง ผู้เขียนหรือพิมพ์ฟ้อง