การซื้อขายสิทธิการเช่าโทรศัพท์
การโอนสิทธิการเช่าโทรศัพท์จึงสมบูรณ์ตั้งแต่ทั้งสองฝ่ายได้ตกลงซื้อขายสิทธิการเช่าและส่งมอบเครื่องโทรศัพท์ให้ฝ่ายผู้รับโอนครอบครอง
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1562/2530
ระเบียบขององค์การโทรศัพท์แห่งประเทศไทยไม่มีข้อห้ามการโอนสิทธิการเช่าโทรศัพท์ เพียงแต่จะให้ไปทำการเปลี่ยนชื่อผู้เช่าต่อองค์การโทรศัพท์แห่งประเทศไทยเท่านั้น เมื่อผู้เช่าสิทธิการเช่าโทรศัพท์ขายสิทธิให้แก่ผู้ร้อง การโอนสิทธิการเช่าโทรศัพท์จึงสมบูรณ์ตั้งแต่ทั้งสองฝ่ายได้ตกลงซื้อขายสิทธิการเช่าและส่งมอบเครื่องโทรศัพท์ให้ฝ่ายผู้รับโอนครอบครอง โจทก์จึงไม่มีสิทธินำยึดสิทธิการเช่าดังกล่าว
สืบเนื่องมาจากศาลพิพากษาให้จำเลยทั้งสองร่วมกันชำระเงินต้นพร้อมดอกเบี้ยแก่โจทก์ โจทก์จึงนำเจ้าพนักงานบังคับคดีไปยึดสิทธิการเช่าโทรศัพท์เพื่อขายทอดตลาดเอาเงินชำระหนี้โจทก์โดยอ้างว่าเป็นของจำเลยที่ 1
ผู้ร้องทั้งสามยื่นคำร้องว่า สิทธิการเช่าใช้เครื่องโทรศัพท์เป็นของผู้ร้องที่ 1 ที่ 2 และที่ 3 ตามลำดับ โดยผู้ร้องที่ 1 ที่ 2 ซื้อมาจากจำเลยที่ 1 ผู้ร้องที่ 3 ซื้อมาจากนายวิเชียร ซึ่งซื้อต่อมาจากจำเลยที่ 1 อีกทอดหนึ่ง ขอให้ปล่อยสิทธิการเช่าเครื่องโทรศัพท์หมายเลขดังกล่าว
โจทก์ให้การว่า สิทธิการเช่าเครื่องโทรศัพท์ตามคำร้องของผู้ร้องทั้งสามยังเป็นของจำเลยที่ 1 อยู่ มิได้โอนขายให้แก่ผู้ร้องที่ 1 ที่ 2 และนายวิเชียร และองค์การโทรศัพท์แห่งประเทศไทย ผู้ให้เช่ายังมิได้ให้ใครเช่าต่อขอให้ยกคำร้องของผู้ร้องทั้งสาม
ศาลชั้นต้นไต่สวนคำร้องแล้วมีคำสั่งให้ถอนการยึดทรัพย์ตามบัญชียึดทรัพย์ลงวันที่ 29 พฤษภาคม 2524 ของเจ้าพนักงานบังคับคดี
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า "ข้อเท็จจริงฟังเป็นยุติว่า ผู้ร้องที่ 1และที่ 2 ได้ซื้อสิทธิการเช่าเครื่องโทรศัพท์หมายเลข 5112956 และ5110961 จากจำเลยที่ 1 ได้ชำระราคาแล้ว และจำเลยที่ 1 ได้ส่งมอบเครื่องโทรศัพท์ดังกล่าวให้ผู้ร้องทั้งสองได้ครอบครองใช้มาก่อนโจทก์ฟ้องคดีนี้ แต่ยังมิได้ทำการโอนเปลี่ยนชื่อผู้เช่าเดิมคือจำเลยที่ 1 มาเป็นชื่อของผู้ร้องทั้งสองต่อองค์การโทรศัพท์แห่งประเทศไทยผู้ให้เช่าเท่านั้น
พิเคราะห์แล้ว เห็นว่า ตามระเบียบขององค์การโทรศัพท์แห่งประเทศไทยผู้ให้เช่าโทรศัพท์นั้น มิได้ห้ามการโอนสิทธิการเช่าโทรศัพท์ เมื่อข้อเท็จจริงปรากฏว่าระหว่างจำเลยที่ 1 กับผู้ร้องทั้งสองได้ตกลงโอนขายสิทธิการเช่าโทรศัพท์ทั้งได้ชำระราคากันและส่งมอบเครื่องโทรศัพท์ให้ผู้ร้องทั้งสองใช้มาก่อนโจทก์ฟ้องจำเลยที่ 1 ในคดีนี้แล้ว การโอนสิทธิการเช่าโทรศัพท์ระหว่างจำเลยที่ 1 และผู้ร้องทั้งสองจึงสมบูรณ์นับตั้งแต่ทั้งสองฝ่ายได้ตกลงซื้อขายสิทธิการเช่าและส่งมอบเครื่องโทรศัพท์ให้ฝ่ายผู้รับโอนครอบครอง ส่วนการจะไปทำการเปลี่ยนชื่อผู้ร้องทั้งสองเป็นผู้เช่าต่อองค์การโทรศัพท์แห่งประเทศไทยนั้น ก็เพื่อให้เป็นไปตามระเบียบขององค์การโทรศัพท์แห่งประเทศไทยเท่านั้น เมื่อฟังว่าสิทธิการเช่าโทรศัพท์โอนไปยังผู้ร้องทั้งสองแล้ว โจทก์จึงไม่มีสิทธินำยึดสิทธิการเช่าดังกล่าว ที่ศาลล่างทั้งสองพิพากษาให้ถอนการยึดสิทธิการเช่าโทรศัพท์ดังกล่าวนั้นชอบแล้ว ฎีกาโจทก์ฟังไม่ขึ้น"
พิพากษายืน.
ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์
มาตรา 458 กรรมสิทธิ์ในทรัพย์สินที่ขายนั้นย่อมโอนไปยังผู้ซื้อตั้งแต่ขณะเมื่อได้ทำสัญญาซื้อขายกัน
มาตรา 461 ผู้ขายจำต้องส่งมอบทรัพย์สินซึ่งขายนั้นให้แก่ผู้ซื้อ
ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง
มาตรา 288 ภายใต้บังคับบทบัญญัติแห่ง มาตรา 55 ถ้าบุคคลใด กล่าวอ้างว่าจำเลย หรือลูกหนี้ตามคำพิพากษาไม่ใช่เจ้าของทรัพย์สิน ที่เจ้าพนักงานบังคับคดีได้ยึดไว้ ก่อนที่ได้เอาทรัพย์สินเช่นว่านี้ออก ขายทอดตลาด หรือจำหน่ายโดยวิธีอื่น บุคคลนั้นอาจยื่นคำร้องขอต่อ ศาลที่ออกหมายบังคับคดีให้ปล่อยทรัพย์สินเช่นว่านั้น ในกรณีเช่นนี้ ให้ผู้กล่าวอ้างนั้นนำส่งสำเนาคำร้องขอแก่โจทก์หรือเจ้าหนี้ตาม คำพิพากษา และจำเลยหรือลูกหนี้ตามคำพิพากษาและเจ้าพนักงาน บังคับคดีโดยลำดับ เมื่อเจ้าพนักงานบังคับคดีได้รับคำร้องขอเช่นว่านี้ ให้งดการขายทอดตลาดหรือจำหน่ายทรัพย์สินที่พิพาทนั้นไว้ในระหว่าง รอคำวินิจฉัยชี้ขาดของศาลดั่งที่บัญญัติไว้ต่อไปนี้
เมื่อได้ยื่นคำร้องขอต่อศาลแล้ว ให้ศาลพิจารณาและชี้ขาดตัดสิน คดีนั้นเหมือนอย่างคดีธรรมดา เว้นแต่
(1) เมื่อเจ้าหนี้ตามคำพิพากษาได้ยื่นคำขอโดยทำเป็นคำร้อง ไม่ว่าในเวลาใด ๆ ก่อนวันกำหนดชี้สองสถานหรือก่อนวันสืบพยาน หากมีพยานหลักฐานเบื้องต้นแสดงว่าคำร้องขอนั้นไม่มีมูลและยื่นเข้า มาเพื่อประวิงให้ชักช้าศาลมีอำนาจที่จะมีคำสั่งให้ผู้กล่าวอ้างวางเงิน ต่อศาลภายในระยะเวลาที่ศาลจะกำหนดไว้ในคำสั่งตามจำนวนที่ ศาลเห็นสมควร เพื่อเป็นประกันการชำระค่าสินไหมทดแทนแก่เจ้าหนี้ ตามคำพิพากษาสำหรับความเสียหายที่อาจได้รับเนื่องจากเหตุเนิ่นช้าในการบังคับคดี อันเกิดแต่การยื่นคำร้องขอนั้น ถ้าผู้กล่าวอ้างไม่ ปฏิบัติตามคำสั่งของศาล ให้ศาลมีคำสั่งจำหน่ายคดีออกจากสารบบ ความ
(2) ถ้าทรัพย์สินที่พิพาทนั้นเป็นสังหาริมทรัพย์และมีพยาน หลักฐานเบื้องต้นแสดงว่าคำร้องขอนั้นไม่มีเหตุอันควรฟัง หรือถ้า ปรากฏว่าทรัพย์สินที่ยึดนั้นเป็นสังหาริมทรัพย์ที่เก็บไว้นานไม่ได้ ศาลมีอำนาจที่จะมีคำสั่งให้เจ้าพนักงานบังคับคดีขายทอดตลาด หรือจำหน่ายทรัพย์สินเช่นว่านี้โดยไม่ชักช้า
คำสั่งของศาลตามวรรคสอง (1) และ (2) ให้เป็นที่สุด