กฎหมายว่าด้วยการเช่าซื้อ ไม่ได้บัญญัติเรื่องอายุความไว้โดยตรง แต่ค่าเช่าซื้อก็เป็นค่าเช่าในการใช้ทรัพย์สินอย่างหนึ่ง ดังนั้น หากผู้ให้เช่าซื้อซึ่งเป็นพ่อค้าฟ้องเรียกร้องเอาค่าเช่าซื้อสังหาริมทรัพย์(เครื่องรับโทรทัศน์) ที่ค้างชำระอยู่ จึงต้องฟ้องเสียภายในอายุความ 2 ปี ไม่ใช่10 ปี
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3358/2530
ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ บรรพ 3 ลักษณะ 5 ว่าด้วยการเช่าซื้อ ไม่ได้บัญญัติเรื่องอายุความไว้โดยตรง แต่ค่าเช่าซื้อก็เป็นค่าเช่าในการใช้ทรัพย์สินอย่างหนึ่ง ดังนั้น หากผู้ให้เช่าซื้อซึ่งเป็นพ่อค้าฟ้องเรียกร้องเอาค่าเช่าซื้อสังหาริมทรัพย์(เครื่องรับโทรทัศน์) ที่ค้างชำระอยู่ จึงต้องฟ้องเสียภายในอายุความ 2 ปี ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 165(6) ไม่ใช่10 ปี ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 164.
คดีสืบเนื่องมาจากศาลมีคำสั่งให้พิทักษ์ทรัพย์ของลูกหนี้(จำเลย) เด็ดขาดแล้ว เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ได้สอบสวนหนี้สินของลูกหนี้ (จำเลย) และพบว่าผู้ร้องเป็นหนี้ค่าเช่าซื้อเครื่องรับโทรทัศน์ลูกหนี้ (จำเลย) อยู่ 6,020 บาทผู้ร้องปฏิเสธหนี้ แต่เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ยืนยันหนี้นั้น
ผู้ร้องยื่นคำร้องว่า ผู้ร้องชำระหนี้ค่าเช่าซื้อเครื่องรับโทรทัศน์ครบถ้วนแล้ว และหากยังคงต้องชำระ เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ก็ไม่อาจใช้สิทธิเรียกร้องของลูกหนี้ (จำเลย) ได้ เพราะขาดอายุความ
เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ยื่นคำคัดค้านว่า ผู้ร้องยังคงค้างชำระค่าเช่าซื้อเครื่องรับโทรทัศน์อยู่ และสิทธิเรียกร้องในกรณีเช่นนี้ไม่มีกฎหมายบัญญัติเรื่องอายุความไว้โดยตรงต้องถืออายุความ 10 ปี ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 164
ศาลชั้นต้นฟังว่า ผู้ร้องค้างชำระค่าเช่าซื้ออยู่เป็นเงิน6,020 บาท จึงมีคำสั่งให้ยกคำร้อง
ผู้ร้องอุทธรณ์ปัญหาข้อกฎหมาย
ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยว่า สิทธิเรียกร้องของจำเลยโดยเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ขาดอายุความแล้ว พิพากษากลับ ให้จำหน่ายชื่อผู้ร้องออกจากบัญชีลูกหนี้
เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงฟังเป็นยุติตามที่ศาลชั้นต้นฟังมาว่า ลูกหนี้ (จำเลย) เป็นนิติบุคคลประเภทบริษัทจำกัดผู้ประกอบธุรกิจการค้าเกี่ยวกับการการให้เช่าซื้อเครื่องรับโทรทัศน์ ผู้ร้องทำสัญญาเช่าซื้อเครื่องรับโทรทัศน์จากลูกหนี้ (จำเลย) และค้างชำระค่าเช่าซื้อมาตั้งแต่วันที่ 15 มิถุนายน 2522 เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์เรียกร้องให้ผู้ร้องชำระค่าเช่าซื้อเมื่อวันที่ 27 กุมภาพันธ์ 2527 คดีมีปัญหาชั้นฎีกาว่า สิทธิเรียกร้องของลูกหนี้ (จำเลย) คดีนี้ขาดอายุความหรือไม่
พิเคราะห์แล้วเห็นว่า ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ บรรพ 3 ลักษณะ 5ว่าด้วยเช่าซื้อ มิได้บัญญัติเรื่องอายุความไว้โดยตรง แต่ค่าเช่าซื้อก็เป็นค่าเช่าในการใช้ทรัพย์สินอย่างหนึ่ง ลูกหนี้(จำเลย) ผู้ให้เช่าซื้อซึ่งเป็นบุคคลจำพวกที่ค้าในการให้เช่าซื้อเครื่องรับโทรทัศน์อันเป็นสังหาริมทรัพย์ชอบที่จะต้องบังคับตามสิทธิเรียกร้องเอาค่าเช่าซื้อดังกล่าวเสียภายใน 2 ปีตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 105 (6) เมื่อข้อเท็จจริงได้ความว่าลูกหนี้ (จำเลย) มิได้บังคับตามสิทธิเรียกร้องนี้ภายในกำหนดเวลาสองปี สิทธิเรียกร้องดังกล่าวก็ตกเป็นอันขาดอายุความ ส่วนอายุความ 10 ปี ตามมาตรา 164 นั้น เป็นกรณีที่ไม่มีกฎหมายบัญญัติไว้เป็นอย่างอื่น จะนำมาปรับกับคดีนี้หาได้ไม่ ฎีกาของเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ฟังไม่ขึ้น
พิพากษายืน.
( คำนึง อุไรรัตน์ - ดุสิต วราโห - สวัสดิ์ รอดเจริญ )