ผู้รับโอนไม่มีสิทธิดีกว่าผู้โอน สัญญาซื้อขาย
*แม้กฎหมายมิได้บัญญัติว่าผู้ขายจะต้องมีกรรมสิทธิ์ แต่ผู้ขายก็จุต้องอยู่ในฐานะที่จะโอนกรรมสิทธิ์ให้แก่ผู้ซื้อได้ ในกรณีที่ผู้ขายไม่ใช่เจ้าของทรัพย์ หรือไม่มีอำนาจที่จะนำทรัพย์สินไปขายได้ ย่อมไม่มีอำนาจที่จะนำทรัพย์สินนั้นไปทำสัญญาซื้อขาย แม้ผู้ซื้อได้รับโอนกรรมสิทธิ์หรือจดทะเบียนรับโอนกรรมสิทธิ์หรือจดทะเบียนรับโอนกรรมสิทธิ์ในทรัพย์สินนั้นไปแล้วก็ไม่ทำให้ผู้ซื้อได้กรรมสิทธิ์ในทรัพย์สินนั้นแต่ประการใด เพราะผู้รับโอนไม่มีสิทธิดีกว่าผู้โอน
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4176/2530
จำเลยที่ 1 ใช้ใบมอบอำนาจของ อ. ซึ่งเป็นใบมอบอำนาจปลอมโอนขายที่ดินของ อ.ให้จำเลยที่2โดยอ. มิได้รู้เห็นยินยอม แล้วจำเลยที่ 2 นำที่ดินไปขายฝากแก่จำเลยที่ 3 ดังนี้ จำเลยที่ 2 ไม่ได้กรรมสิทธิ์ในที่ดินและย่อมไม่มีอำนาจที่จะนำไปขายฝากแก่จำเลยที่ 3 ได้ โจทก์ซึ่งเป็นทายาทและผู้จัดการมรดกของ อ. จึงมีสิทธิขอให้ศาลเพิกถอนการจดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินนั้นกลับคืนมาเป็นของ อ. ตามเดิมได้
โจทก์ฟ้องคดีต่อศาลแพ่ง ขอให้เพิกถอนนิติกรรมการโอนที่ดินซึ่งตั้งอยู่ในเขตศาลจังหวัดนครปฐม การที่ศาลแพ่งรับฟ้องรับคำให้การ ตลอดจนสืบพยานจนเสร็จการพิจารณาย่อมแสดงว่าศาลแพ่งยอมรับพิจารณาคดีนี้ตามพระธรรมนูญศาลยุติธรรม มาตรา 14(4) แล้ว
โจทก์ฟ้องว่า โจทก์ทั้งหกเป็นผู้จัดการมรดกของสมเด็ดพระนางเจ้าอินทรศักดิศรีสมเด็จพระนางเจ้าอินทรศักดิศรีทรงเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ที่ดินโฉนดที่ 2196 เมื่อราวปลายปี พ.ศ. 2508 นายถวัลย์ สุจริตกุล ขอซื้อที่ดินจากพระองค์ท่านหลายแปลงและบอกว่ามีผู้ขอซื้ออีกหลายแปลง พระองค์ท่านทรงตกลงขายให้และทรงลงพระนามในหนังสือมอบอำนาจหลายฉบับที่ยังไม่ได้กรอกข้อความมอบให้นายถวัลย์ไปจัดการโดยเข้าพระทัยว่านายถวัลย์ใช้หนังสือมอบอำนาจหมดแล้ว ต่อมาปี พ.ศ. 2515 พระองค์ท่านทรงทราบว่าจำเลยที่ 1 ขายที่ดินโฉนดที่ 2196 ให้แก่จำเลยที่ 2 ไปโดยพระองค์ท่านไม่เคยทรงมอบอำนาจให้จำเลยที่ 1 ขายที่ดิน และจำเยที่ 2 ขายฝากที่ดินให้จำเลยที่ 3 ไปแล้ว ทั้งนี้เพราะนายถวัลย์ใช้หนังสือมอบอำนาจที่พระองค์ท่านทรงลงพระนามให้ไม่หมด เมื่อนายถวัลย์ถึงแก่กรรมจำเลยที่ 1 สมคบกับจำเลยที่ 2 ปลอมหนังสือมอบอำนาจและโอนให้แก่จำเลยที่ 2 การโอนจึงเป็นโมฆะการจดทะเบียนขายฝากให้จำเลยที่ 3 ก็เป็นโมฆะไปด้วย ผู้จัดการมรดกและทายาทโดยธรรมของพระองค์ท่านมีสิทธิขอให้เพิกถอนเอาที่ดินคืนได้ ขอให้เพิกถอนการโอนที่ดินตามฟ้องระหว่างจำเลยที่ 1 กับจำเลยที่ 2 และการขายฝากระหว่างจำเลยที่ 2 กับจำเลยที่ 3 ให้ที่ดินกลับคืนมาอยู่ในรพะนามสมเด็จพระนางเจ้าอินทรศักดิศจีตามเดิม หากจำเลยไม่จัดการให้ถือเอาคำพิพากษาของสาลแทนการแสดงเจตนาของจำเลย
จำเลยที่ 1 ขาดนัดยื่นคำให้การและขาดนัดพิจารณา
จำเลยที่ 2 ให้การว่าซื้อที่ดินมาโดยสุจริตด้วยการจัดการของนายถวัลย์ตัวแทนและผู้จัดการผลประโยชน์ของสมเด็จพระนางเจ้าอินทรศักดิศจี หากมีการปลอมหนังสือมอบอำนาจก็เกิดจากความประมาทเลินเล่ออย่างร้ายแรงของพระองค์ท่านที่ทรงลงพระนามในหนังสือมอบอำนาจโดยไม่กรอกข้อความมอบให้นายถวัลย์ไป จึงฟ้องเพิกถอนการโอนมิได้
จำเลยที่ 3 ให้การว่าที่ดินพิพาทตั้งอยู่ในเขตศาลจังหวัดนครปฐมโจทก์ไม่มีอำนาจฟ้องคดีต่อศาลแพ่ง จำเลยทีท 3 มิได้สมคบกับจำเลยที่ 1 ที่ 2 ในการทำสัญญาขายฝากและมิได้ประมาทเลินเล่อ แต่เห็นว่าจำเลยที่ 2 เป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์จึงรับซื้อฝากที่ดินไว้จนหลุดเป็นกรรมสิทธิ์ของจำเลยที่ 3 เหตุเกิดจากความประมาทเลินเล่ออย่างร้ายแรงของสมเด็จพระนางเจ้าอินทรศักดิศจี ซึ่งทรงทราบดีว่าได้มอบโฉนดที่ดินและหนังสือมอบอำนาจให้ผู้ใดไป เมื่อนายถวัลย์ถึงแก่กรรมก็มิได้ทรงประกาศยกเลิกเอกสารต่าง ๆ ที่ทรงลงประนามไว้
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยทั้งสามเพิกถอนการจดทะเบียนนิติกรรมโอนกรรมสิทธิ์ระหว่างจำเลยที่ 1 และจำเลยที่ 2 กับนิติกรรมขายฝากระหว่างจำเลยที่ 2และจำเลยที่ 3 ในโฉนดที่ดินพิพาทเลขที่ 2196 ตำบลกระพังโหม อำเภอกำแพงแสนจังหวัดนครปฐม ให้กลับคืนมาในนามของสมเด็จพระนางเจ้าอินทรศักดิศจรีพระวรราชชายาหากจำเลยทั้งสามเพิกเฉยก็ใหถือเอาคำพิพากษานี้เป็นการแสดงเจตนาของจำเลยทั้งสาม สำหรับค่าฤชาธรรมเนียมและค่าทนายความสมควรให้เป็นพับ
จำเลยที่ 3 อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน ให้จำเลยที่ 3 ใช้ค่าทนายความชั้นอุทธรณ์ 5,000 บาทแทนโจทก์
จำเลยที่ 3 ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า จำเลยที่ 3 ฎีกาว่า ที่พิพาทตั้งอยู่ในเขตศาลจังหวัดนครปฐมโจทก์ฟ้องคดีนี้ต่อศาลแพ่งโดยไม่ขออนุญาตก่อนเป็นการไม่ชอบนั้น ศาลฎีกาเห็นว่าคดีที่เกิดขึ้นนอกเขตของศาลแพ่งนั้น จะยื่นฟ้องต่อศาลแพ่งก็ได้แต่อยู่ในดุลพินิจของ ศาลแพ่งที่จะไม่ยอมรับพิจารณาพิพากษาคดีที่ยื่นฟ้องเช่นนั้นได้ ตามพระธรรมนูญศาลยุติธรรม มาตรา 14(4) การที่ศาลแพ่งรับฟ้อง รับคำให้การ ตลอดจนสืบพยานจนเสร็จการพิจารณาย่อมแสดงให้เห็นว่า ศาลแพ่งใช้ดุลพินิจยอมรับพิจารณาคดีนี้ตามบทกฎหมายดังกล่าวแล้ว
จำเลยที่ 3 ฎีกาข้อสุดท้ายว่าสมเด็จพระนางเจ้าอินทรศักดิศจี กระทำการด้วยความประมาทเลินเล่ออย่างร้ายแรง ทรงลงพระนามในหนังสือมอบอำนาจที่ยังไม่ได้กรอกข้อความแล้วทรงมอบให้นายถวัลย์พร้อมกับโฉนดที่ดิน เมื่อนายถวัลย์ถึงแก่กรรมก็มิได้ทรงเรียกคืนจากจำเลยที่ 1 แสดงว่าทรงรู้เห็นหรือมอบหมายให้จำเลยที่ 1 โอนที่ให้จำเลยที่ 2 ได้ จำเลยที่ 3 รับซื้อฝากที่พิพาทโดยสุจริต เสียค่าตอบแทน จะอ้างความประมาทเลินเล่อของเจ้าของที่ดินเดิมมาเพิกถอนนิติกรรมระหว่างจำเลยที่ 2 กับจำเลยที่ 3 หาได้ไม่ ศาลฎีกาเห็นว่า จำเลยที่ 3 รับซื้อฝากที่พิพาทมาจากจำเลยที่ 2จึงต้องพิเคราะห์ว่า จำเลยที่ 2 มีกรรมสิทธิ์ในที่พิพาทหรือไม่ ถ้าจำเลยที่ 2 ไม่มีกรรมสิทธิ์ในที่พิพาทก็ไม่มีอำนาจจะนำที่พิพาทไปขายให้จำเลยที่ 3 ข้อเท็จจริงฟังได้ว่ามีการปลอมหนังสือมอบอำนาจ และจำเลยที่ 1 ได้นำหนังสือมอบอำนาจฉบับนี้ไปเป็นหลักฐานในการจดทะเบียนขายที่พิพาทให้จำเลยที่ 2 ในราคา 280,000 บาท แต่ราคาประเมินของทางราชการ ที่พิพาทมีราคาประเมินประมาณ 540,000 บาท สูงกว่าราคาที่จำเลยที่ 1 ที่ 2 ซื้อขายกัน ทั้งยังได้ความในช่วงนี้ พ.ศ. 2514 ซึ่งจำเลยที่ 2 อ้างว่าซื้อที่พิพาทมาจากสมเด็จพระนางเจ้าอินทรศักดิศจี นั้น ฐานะการเงินของจำเลยที่ 2ไม่ดีธนาคารเริ่มจะทวงหนี้และไม่ยอมให้จำเลยที่ 2 เบิกเงินเกินบัญชีอีก จึงไม่มีเหตุผลให้เชื่อว่าจำเลยที่ 2 ซื้อที่พิพาทและชำระเงินให้สมเด็จพระนางเจ้าอินทรศักดิศจีและพระองค์ท่านทรงรู้เห็นยินยอมในการขายที่พิพาทแต่อย่างใด เมื่อข้อเท็จจริงฟังไม่ได้ว่าพระองค์ท่านทรงขายที่พิพาทให้จำเลยที่ 2 จำเลยที่ 2 จึงไม่มีสิทธิใด ๆ ในที่พิพาทที่จะนำไปขายฝากให้จำเลยที่ 3 โจทก์ซึ่งเป็นทายาทและเป็นผู้จัดการมรดกของสมเด็จพระนางเจ้าอินทรศักดิศจีจึงมีสิทธิขอให้ศาลเพิกถอนการจดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์ที่พิพาทกลับคืนมาเป็นของพระองค์ท่านตามเดิม
พิพากษายืน
( อำนวย เปล่งวิทยา - สุชาติ จิวะชาติ - เสรี แสงศิลป์ )
ป.พ.พ. มาตรา 453, 1336, 1719
มาตรา 453 อันว่าซื้อขายนั้นคือสัญญาซึ่งบุคคลฝ่ายหนึ่งเรียกว่าผู้ขายโอนกรรมสิทธิ์แห่งทรัพย์สินให้แก่บุคคลอีกฝ่ายหนึ่งเรียกว่าผู้ซื้อและผู้ซื้อตกลงว่าจะใช้ราคาทรัพย์สินนั้นให้แก่ผู้ขาย
มาตรา 1336 ภายในบังคับแห่งกฎหมาย เจ้าของทรัพย์สินมีสิทธิใช้สอย และจำหน่ายทรัพย์สินของตนและได้ซึ่งดอกผลแห่งทรัพย์สินนั้น กับทั้งมีสิทธิ ติดตามและเอาคืนซึ่งทรัพย์สินของตนจากบุคคลผู้ไม่มีสิทธิจะยึดถือไว้ และ มีสิทธิขัดขวางมิให้ผู้อื่นสอดเข้าเกี่ยวข้องกับทรัพย์สินนั้นโดยมิชอบด้วย กฎหมาย
มาตรา 1719 ผู้จัดการมรดกมีสิทธิและหน้าที่ที่จะทำการอันจำเป็น เพื่อให้การเป็นไปตามคำสั่งแจ้งชัดหรือโดยปริยายแห่งพินัยกรรม และเพื่อจัดการมรดกโดยทั่วไป หรือเพื่อแบ่งปันทรัพย์มรดก
พระธรรมนูญศาลยุติธรรม มาตรา 14
มาตรา 14 ให้อธิบดีผู้พิพากษาภาคเป็นผู้พิพากษาในศาลที่อยู่ในเขตอำนาจด้วยผู้หนึ่ง โดยให้มีอำนาจและหน้าที่ตามที่กำหนดไว้ในมาตรา 11 วรรคหนึ่ง และให้มีอำนาจหน้าที่ดังต่อไปนี้ด้วย
(1) สั่งให้หัวหน้าสำนักงานประจำศาลยุติธรรมรายงานเกี่ยวด้วยคดี หรือรายงานกิจการอื่นของศาลที่อยู่ในเขตอำนาจของตน
(2) ในกรณีจำเป็นจะสั่งให้ผู้พิพากษาคนใดคนหนึ่งในศาลที่อยู่ในเขตอำนาจของตนไปช่วยทำงานชั่วคราวมีกำหนดไม่เกินสามเดือนในอีกศาลหนึ่งโดยความยินยอมของผู้พิพากษานั้นก็ได้ แล้วรายงานไปยังประธานศาลฎีกาทันที
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3287/2532
จำเลยเป็นผู้มีสิทธิครอบครองที่ดินพิพาท ระหว่างที่จำเลยไม่อยู่ ต. ขอออกหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส.3)ทับที่ดินของจำเลย โดยจำเลยมิได้ยินยอมด้วย ต. ย่อมไม่ก่อให้เกิดสิทธิครอบครองตามกฎหมาย การที่ ต. นำที่ดินพิพาทมาขายให้ ส.แล้ว ส. โอนขายที่ดินพิพาทซึ่งตนไม่มีสิทธิครอบครองให้แก่โจทก์ต่อ แม้จะทำเป็นหนังสือและจดทะเบียนต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ก็ตาม โจทก์ก็ไม่ได้สิทธิครอบครองโดยชอบด้วยกฎหมาย โจทก์อ้างประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1299 มาใช้บังคับไม่ได้
โจทก์ฟ้องขอให้ศาลพิพากษาขับไล่จำเลยและบริวารออกไปจากที่ดินของโจทก์
จำเลยให้การว่า ที่ดินพิพาทเป็นของจำเลย ขอให้ยกฟ้องโจทก์
ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้อง
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า มีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาโจทก์ว่าโจทก์มีสิทธิครอบครองในที่ดินพิพาทหรือไม่ โจทก์มีตัวโจทก์เป็นพยานเบิกความว่า เมื่อวันที่ 27 ธันวาคม 2527 โจทก์ซื้อที่ดินพิพาทจากนายสมาน สังข์เงิน ราคา 80,000 บาท ปรากฏตามหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส.3ก) เอกสารหมาย จ.1 และหนังสือสัญญาขายที่ดินเอกสารหมาย จ.2 ซึ่งนายสมานได้ซื้อมาจากนายตี๋ ขณะที่โจทก์ซื้อที่ดินพิพาท โจทก์ทราบว่าจำเลยได้เช่าที่ดินพิพาททำไร่ข้าวโพดอยู่โดยจำเลยตกลงว่าถ้านายสมานขายที่ดินพิพาทให้แก่โจทก์แล้วจำเลยจะยอมออกจากที่ดินพิพาท และโจทก์เห็นกระท่อมของจำเลยปลูกอยู่ในที่ดินพิพาทหลังจากโจทก์รับโอนที่ดินพิพาทแล้ว โจทก์กับนายวิเชษฐ์ คงหอม ได้ไปหาจำเลยที่กระท่อมแจ้งว่าโจทก์ต้องการทำประโยชน์ในที่ดินพิพาทให้จำเลยกับพวกออกไปจากที่ดินพิพาท จำเลยอ้างว่าเคยเช่าที่ดินพิพาทจากนายสมานเสียค่าเช่าปีละ 5,000 บาท ขอเช่าจากโจทก์ในราคาเดียวกันแต่โจทก์ไม่ยินยอม จำเลยอ้างว่าไม่สามารถจะหาที่อยู่ใหม่ได้และไม่ยอมออกไปจากที่ดินพิพาท นายวิเชษฐ์ คงหอม พยานโจทก์เบิกความว่าเมื่อเดือนมกราคม 2528 โจทก์ชวนพยานไปที่บ้านของจำเลยเพื่อบอกให้จำเลยออกไปจากที่ดินพิพาท พยานได้พบจำเลยโจทก์แจ้งให้จำเลยทราบว่าโจทก์ได้ซื้อที่ดินพิพาทมาแล้วให้จำเลยออกไป จำเลยขอเช่าที่ดินดังกล่าวกับโจทก์ คิดค่าเช่าให้ปีละ5,000 บาท แต่โจทก์ไม่ยอมและได้บอกให้จำเลยออกไป แต่จำเลยไม่ยอมออก นายสมาน สังข์เงิน พยานโจทก์อีกปากหนึ่งเบิกความว่าที่ดินพิพาทเดิมเป็นของนายตี๋ แพรศรี บุตรบุญธรรมของจำเลยนายตี๋ ขายให้พยานในราคา 50,000 บาท แต่พยานไม่ได้เข้าทำประโยชน์ในที่ดินพิพาทเพราะไกลบ้านของพยาน พยานจึงให้จำเลยเช่าที่ดินพิพาทตกลงค่าเช่าปีละ 5,000 บาท โดยไม่ได้ทำสัญญาเช่ากันไว้ต่อมาพยานตกลงขายที่ดินพิพาทให้โจทก์ในราคา 80,000 บาท ได้จดทะเบียนโอนกันปรากฏตามหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส.3ก)เอกสารหมาย จ.1 และหนังสือสัญญาขายที่ดิน เอกสารหมาย จ.2ขณะที่พยานขายที่ดินให้โจทก์ พยานเคยพาโจทก์ไปพบกับจำเลย จำเลยได้โต้แย้งเรื่องกรรมสิทธิ์ที่ดิน ส่วนพยานจำเลยมีตัวจำเลยเป็นพยานเบิกความว่า ที่ดินตามหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส.3ก)เอกสารหมาย จ.1 เป็นที่ดินแปลงเดียวกับที่ดินของจำเลย ตามแบบแจ้งการครอบครองที่ดิน (ส.ค.1) เอกสารหมาย ล.1 จำเลยครอบครองที่ดินมาประมาณ 30 ปี ขณะนี้จำเลยยังครอบครองอยู่และเสียภาษีบำรุงท้องที่ตลอดมาตามใบเสร็จรับเงินภาษีบำรุงท้องที่เอกสารหมาย ล.2 เมื่อปี พ.ศ. 2520 จำเลยไปรับจ้างขุดมันที่จังหวัดระยองได้มอบให้นายกังวล ขำอำไพ ปกครองดูแลแทน จำเลยไปรับจ้างอยู่ 2 ปี ก็เดินทางกลับมา ทราบจากนายกังวลว่า นายตี๋แพรศรี บุตรบุญธรรมของจำเลยได้นำที่ดินของจำเลยไปออกหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส.3) ทับที่ดินของจำเลย จำเลยจึงไปร้องเรียนต่อเจ้าหน้าที่อำเภอ พยุหะคีรี จังหวัดนครสวรรค์ และสำนักนายกรัฐมนตรี หลังจากจำเลยกลับจากระยองประมาณ 1 ปี จำเลยทราบว่านายตี๋นำที่ดินของจำเลยไปขายให้นายสมาน นายสมานขายที่ดินต่อให้โจทก์ นายกังวล ขำอำไพ พยานจำเลยอีกปากหนึ่งเบิกความว่าพยานเป็นหลานจำเลย ทำไร่อยู่ในที่ดินที่ติดกับที่ดินของจำเลยพยานอยู่อาศัยกับจำเลยมาประมาณ 30 ปี เมื่อปี พ.ศ. 2520 จำเลยไปจังหวัดระยองฝากที่ดินให้พยานช่วยดูแล พยานจึงได้เข้าทำประโยชน์ในที่ดินดังกล่าวเป็นเวลา 2 ปี ระหว่างที่จำเลยไม่อยู่ นายตี๋แพรศรี ได้นำเจ้าหน้าที่มารังวัดที่ดินพิพาทเพื่อจะออกหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส.3) พยานคัดค้านว่าที่ดินพิพาทเป็นของจำเลย แต่นายตี๋ไม่ยอมเชื่อฟัง อ้างว่านายตี๋กับจำเลยเป็นพ่อลูกกัน ต่อไปจำเลยก็จะต้องโอนที่ดินให้แก่นายตี๋ เมื่อจำเลยกลับมาจากจังหวัดระยอง พยานจึงแจ้งให้จำเลยทราบ ศาลฎีกาเห็นว่าแม้ว่าตัวโจทก์และนายสมานจะเบิกความยืนยันว่า โจทก์ซื้อที่ดินพิพาทจากนายสมานโดยมีค่าตอบแทนเป็นเงินจำนวน 80,000 บาท ได้ทำเป็นหนังสือและจดทะเบียนต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ตามหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส.3ก) เอกสารหมาย จ.1 และหนังสือสัญญาขายที่ดินเอกสารหมาย จ.2 แล้วก็ตาม แต่ก็ได้ความจากนายสมานว่าขณะที่นายสมานขายที่ดินให้โจทก์ นายสมานเคยพาโจทก์ไปพบกับจำเลยจำเลยโต้แย้งเรื่องกรรมสิทธิ์ของที่ดินซึ่งโจทก์ก็ไม่ได้นำนายตี๋มาสืบว่า นายตี๋ได้ที่ดินพิพาทมาโดยชอบด้วยกฎหมายอย่างไร พยานโจทก์จึงขาดตอนไม่ติดต่อกันเป็นพิรุธ ส่วนพยานจำเลยได้ความว่าจำเลยได้ที่ดินมาด้วยการหักร้างถางป่าเพื่อทำไร่ จำเลยแจ้งการครอบครองที่ดินไว้ตั้งแต่วันที่ 17 พฤษภาคม 2498 ตามหนังสือแบบแจ้งการครอบครองที่ดิน (ส.ค.1) เอกสารหมาย ล.1 จำเลยครอบครองที่ดินพิพาทมาโดยตลอด โดยจำเลยมีนายกังวลซึ่งทำไร่อยู่ติดกับที่ดินของจำเลยมาเบิกความรับรองและจำเลยได้เสียภาษีบำรุงท้องที่ให้แก่รัฐ ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2509-2528 ตามใบเสร็จรับเงินภาษีบำรุงท้องที่เอกสารหมาย ล.2 ระหว่างที่จำเลยไม่อยู่ นายตี๋นำเจ้าหน้าที่มารังวัดที่ดินพิพาทเพื่อจะออกหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส.3) ทับที่ดินของจำเลย นายกังวลได้คัดค้านว่าที่ดินเป็นของจำเลยแล้ว แต่นายตี๋ไม่เชื่อฟัง เมื่อจำเลยกลับมาจากจังหวัดระยองทราบเรื่อง จำเลยก็ไปร้องเรียนต่อเจ้าหน้าที่อำเภอพยุหะคีรี จังหวัดนครสวรรค์ และสำนักนายกรัฐมนตรีแสดงให้เห็นว่าจำเลยยังคงหวงแหนครอบครองที่ดินอยู่ แม้ที่ดินของจำเลยเป็นที่ดินแปลงเดียวกับที่ดินของโจทก์ที่ซื้อจากนายสมานก็ตาม จำเลยก็ไม่ได้เช่าที่ดินจากนายสมานตามที่นายสมานและนายวิเชษฐ์เบิกความ พยานหลักฐานของจำเลยประกอบด้วยเหตุผลมีน้ำหนักมากกว่าพยานโจทก์และรับฟังได้ว่าจำเลยเป็นผู้มีสิทธิครอบครองที่ดินพิพาท ระหว่างจำเลยไม่อยู่นายตี๋ขอออกหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส.3ก) เอกสารหมาย จ.1 ทับที่ดินของจำเลย โดยจำเลยมิได้ยินยอมด้วย จึงหาก่อให้เกิดสิทธิครอบครองตามกฎหมายไม่ ดังนั้นโจทก์ผู้รับโอนจึงไม่มีสิทธิครอบครองที่ดินพิพาทโดยชอบด้วยกฎหมาย จะอ้างประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา1299 มาใช้บังคับแก่คดีนี้ไม่ได้ โจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้องขับไล่จำเลย ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วยในผลของคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ ฎีกาโจทก์ฟังไม่ขึ้น
พิพากษายืน.
( เจริญ นิลเอสงฆ์ - มาโนช เพียรสนอง - ประมาณ ชันซื่อ )
ป.พ.พ. มาตรา 1299
มาตรา 1299 ภายในบังคับแห่งบทบัญญัติในประมวลกฎหมายนี้หรือ กฎหมายอื่น ท่านว่าการได้มาโดยนิติกรรมซึ่งอสังหาริมทรัพย์หรือทรัพยสิทธิอัน เกี่ยวกับอสังหาริมทรัพย์นั้นไม่บริบูรณ์ เว้นแต่นิติกรรมจะได้ทำเป็นหนังสือและ ได้จดทะเบียนการได้มากับพนักงานเจ้าหน้าที่
ถ้ามีผู้ได้มาซึ่งอสังหาริมทรัพย์หรือทรัพยสิทธิอันเกี่ยวกับอสังหาริมทรัพย์ โดยทางอื่นนอกจากนิติกรรม สิทธิของผู้ได้มานั้น ถ้ายังมิได้จดทะเบียนไซร้ ท่านว่าจะมีการเปลี่ยนแปลงทางทะเบียนไม่ได้ และสิทธิอันยังมิได้จดทะเบียน นั้น มิให้ยกขึ้นเป็นข้อต่อสู้บุคคลภายนอกผู้ได้สิทธิมาโดยเสียค่าตอบแทนและ โดยสุจริต และได้จดทะเบียนสิทธิโดยสุจริตแล้ว
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 944/2546
ที่ดินพิพาทเป็นของโจทก์ ว. นำที่ดินพิพาทของโจทก์ไปขอออกหนังสือรับรองการทำประโยชน์โดยไม่ชอบ และ ว. ไม่ได้ครอบครองทำประโยชน์ในที่ดินพิพาท การที่ว. นำไปขายให้จำเลยทั้งสอง แม้จำเลยทั้งสองจะซื้อและจดทะเบียนการซื้อขายโดยสุจริตก็หามีสิทธิในที่ดินพิพาทไม่ เพราะผู้ซื้อต้องรับไปเพียงสิทธิของผู้ขายเท่านั้นเมื่อ ว. ผู้ขายไม่มีสิทธิ จำเลยทั้งสองย่อมไม่มีสิทธิในที่ดินพิพาทด้วย
การนำสืบเพื่อพิสูจน์ว่าที่ดินพิพาทเป็นของผู้ใด การออกเอกสารสิทธิที่พิพาทชอบหรือไม่ ไม่มีกฎหมายบังคับให้ต้องมีเอกสารมาแสดง อีกทั้งมิใช่การนำสืบเพิ่มเติม ตัดทอนหรือเปลี่ยนแปลงแก้ไขข้อความในเอกสาร จึงสามารถนำสืบพยานบุคคลได้ไม่ต้องห้ามตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 94
ที่ดินพิพาทเป็นของโจทก์ ว. นำที่ดินพิพาทของโจทก์ไปขอออกหนังสือรับรองการทำประโยชน์โดยไม่ชอบ และ ว. ไม่ได้ครอบครองทำประโยชน์ในที่ดินพิพาท การที่ว. นำไปขายให้จำเลยทั้งสอง แม้จำเลยทั้งสองจะซื้อและจดทะเบียนการซื้อขายโดยสุจริตก็หามีสิทธิในที่ดินพิพาทไม่ เพราะผู้ซื้อต้องรับไปเพียงสิทธิของผู้ขายเท่านั้นเมื่อ ว. ผู้ขายไม่มีสิทธิ จำเลยทั้งสองย่อมไม่มีสิทธิในที่ดินพิพาทด้วย
ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1373 เพียงให้เป็นข้อสันนิษฐานไว้เท่านั้น อสังหาริมทรัพย์ที่ได้จดทะเบียนไว้ในทะเบียนที่ดิน ผู้มีชื่อในทะเบียนเป็นผู้มีสิทธิครอบครอง ดังนั้นจึงสามารถนำสืบข้อเท็จจริงหักล้างข้อสันนิษฐานดังกล่าวได้
คำขอท้ายฟ้องโจทก์ขอให้จำเลยที่ 2 จดทะเบียนโอนโฉนดที่ดินพิพาทเป็นชื่อของโจทก์ แต่มีข้อความต่อไปว่า ถ้าจำเลยที่ 1 ไม่ไปให้ถือเอาคำพิพากษาของศาลแทนการแสดงเจตนาของจำเลยที่ 1 ด้วย ข้อความดังกล่าวย่อมชัดแจ้งว่า เป็นเพียงการพิมพ์ผิดเท่านั้น ที่ถูกโจทก์ต้องการให้จำเลยที่ 1 โอนที่ดินพิพาทให้โจทก์ แต่พิมพ์ผิดเป็นจำเลยที่ 2 โจทก์หาได้ประสงค์ให้จำเลยที่ 2 โอนที่ดินพิพาทให้โจทก์ไม่ คำพิพากษาศาลอุทธรณ์ที่พิพากษาให้จำเลยที่ 1 เป็นผู้ดำเนินการจึงไม่เกินคำขอ
โฉนดที่ดินออกโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย แม้โจทก์จะมิได้ขอให้ศาลเพิกถอน ศาลก็ชอบที่จะพิพากษาให้เพิกถอนได้ คำพิพากษาศาลชั้นต้นที่ให้เพิกถอนโฉนดที่ดินมิได้บังคับแก่ผู้ที่มีอำนาจสั่งเพิกถอนโฉนดที่ดินซึ่งเป็นบุคคลภายนอก แต่เป็นการบังคับเฉพาะคู่ความในคดีเท่านั้น ศาลชั้นต้นจึงพิพากษาให้เพิกถอนโฉนดที่ดินได้
โจทก์ฟ้องว่า ที่ดินพิพาทตั้งอยู่ตำบลห้วยใต้ อำเภอขุขันธ์ จังหวัดศรีสะเกษ เนื้อที่ประมาณ 3 งาน 46 ตารางวา เป็นส่วนหนึ่งของที่ดินตามแบบแจ้งการครอบครองที่ดิน (ส.ค.1) ของโจทก์ ซึ่งโจทก์ได้ครอบครองทำประโยชน์มาหลายสิบปีแล้ว เมื่อเดือนกันยายน 2537 จำเลยทั้งสองบุกรุกเข้าทำนาในที่ดินพิพาท อ้างว่าเป็นของจำเลยที่ 1 ตามโฉนดที่ดินเลขที่ 17457 โจทก์จึงไปตรวจสอบที่สำนักงานที่ดินอำเภอขุขันธ์ ปรากฏว่าจำเลยที่ 1 ขอออกโฉนดที่ดินพิพาทเป็นชื่อของจำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นการไม่ชอบด้วยกฎหมายโจทก์เสียหายไม่สามารถทำประโยชน์ในที่ดินพิพาทได้ขอให้พิพากษาว่าที่ดินพิพาทตามโฉนดที่ดินเลขที่ 17457 ตำบลห้วยใต้ อำเภอขุขันธ์ จังหวัดศรีสะเกษ เป็นของโจทก์ ห้ามจำเลยทั้งสองและบริวารเข้าเกี่ยวข้อง และให้ส่งมอบที่ดินพิพาทคืนโจทก์ในสภาพเรียบร้อย ให้จำเลยที่ 2 จดทะเบียนโอนที่ดินพิพาทเป็นชื่อโจทก์ หากไม่ไปให้ถือเอาคำพิพากษาแทนการแสดงเจตนาของจำเลยที่ 2 และให้จำเลยที่ 1 ส่งมอบโฉนดที่ดินพิพาทแก่โจทก์ไปดำเนินการเอง ให้จำเลยทั้งสองร่วมกันใช้ค่าเสียหายแก่โจทก์ปีละ1,000 บาท นับแต่ปี 2537 เป็นต้นไปจนกว่าจำเลยทั้งสองจะส่งมอบที่ดินพิพาทคืนโจทก์
จำเลยทั้งสองให้การและฟ้องแย้งว่าที่ดินพิพาทไม่ใช่ของโจทก์แต่เป็นของผู้มีชื่อซึ่งได้ขอออกหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส.3 ก.) เลขที่ 1078 หากมีการบุกรุกผู้ขอออกหนังสือรับรองการทำประโยชน์เป็นผู้บุกรุกเข้าแย่งการครอบครองเกิน 1 ปีแล้วฟ้องโจทก์ขาดอายุความ จำเลยที่ 1 ได้ซื้อที่ดินพิพาทจากผู้มีชื่อโดยทำเป็นหนังสือและจดทะเบียนต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ เมื่อปี 2539 ถือว่าได้มาโดยสุจริต และได้เข้าครอบครองนับแต่นั้นมา ต่อมาได้นำหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส.3 ก.) ไปเปลี่ยนเป็นโฉนดที่ดินการออกโฉนดที่ดินชอบด้วยกฎหมาย จำเลยที่ 1 จึงเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ที่ดินพิพาท ที่ดินพิพาทเป็นที่สวนไม่สามารถทำนาได้ โจทก์จึงไม่มีอำนาจเรียกค่าเสียหาย ขอให้ยกฟ้องและพิพากษาว่าที่ดินพิพาทเป็นของจำเลยที่ 1 ห้ามโจทก์และบริวารเข้าเกี่ยวข้อง
โจทก์ให้การแก้ฟ้องแย้งว่า ที่ดินพิพาทเป็นส่วนหนึ่งของที่ดินตามแบบแจ้งการครอบครองที่ดิน (ส.ค.1)เลขที่ 101 ของโจทก์ทางราชการได้ออกหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส.3 ก.) เลขที่ 1078 ให้แก่โจทก์ แต่เนื้อที่ไม่ครบ ส่วนที่ขาดคือที่ดินพิพาทโดยทางราชการได้ออกหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส.3 ก.) ในส่วนที่ดินพิพาทเป็นชื่อของนายวาน แพงมาก เลขที่ 1078 เช่นเดียวกับของโจทก์ นายวานไม่เคยครอบครองที่ดินพิพาท ที่ดินที่นายวานครอบครองและขายให้แก่จำเลยทั้งสอง คือส่วนที่อยู่ติดกับที่ดินพิพาททางด้านทิศใต้ ก่อนเกิดเหตุคดีนี้จำเลยทั้งสองไม่เคยเข้าไปทำประโยชน์ในที่ดินพิพาท ขอให้ยกฟ้องแย้ง
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่าที่ดินพิพาทเนื้อที่ 3 งาน 46 ตารางวา ตามโฉนดที่ดินเลขที่ 17457 ตำบลห้วยใต้ อำเภอขุขันธ์ จังหวัดศรีสะเกษ เป็นของโจทก์ ให้จำเลยทั้งสองส่งมอบที่ดินพิพาทให้แก่โจทก์ ห้ามจำเลยทั้งสองและบริวารเข้าเกี่ยวข้องอีกต่อไป กับให้เพิกถอนโฉนดที่ดินดังกล่าว และให้จำเลยทั้งสองร่วมกันใช้ค่าเสียหายแก่โจทก์ปีละ1,000 บาท นับแต่ปี 2537 เป็นต้นไปจนกว่าจำเลยทั้งสองจะออกไปจากที่ดินพิพาท ยกฟ้องแย้งจำเลยทั้งสอง
จำเลยทั้งสองอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 1 พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยที่ 1 ไปยื่นคำขอเพิกถอนโฉนดที่ดินเลขที่ 17457 ตำบลห้วยใต้ อำเภอขุขันธ์ จังหวัดศรีสะเกษ หากไม่ไปให้ถือเอาคำพิพากษาแทนการแสดงเจตนาของจำเลยที่ 1 นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาของศาลชั้นต้น
จำเลยทั้งสองฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า "คดีนี้ศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ภาค 1 วินิจฉัยว่า ที่ดินพิพาทเนื้อที่ 3 งาน 46 ตารางวา เป็นส่วนหนึ่งของที่ดินตามแบบแจ้งการครอบครองที่ดิน (ส.ค.1) เลขที่ 101 ซึ่งเป็นของโจทก์มีเนื้อที่รวม 2 ไร่ ตามเอกสารหมาย จ.4 มีปัญหาต้องวินิจฉัยฎีกาข้อกฎหมายของจำเลยทั้งสองประการแรกว่า การที่ศาลล่างทั้งสองวินิจฉัยข้อเท็จจริงดังกล่าวเป็นการวินิจฉัยโดยอาศัยพยานหลักฐานนอกสำนวนหรือไม่ โดยจำเลยทั้งสองฎีกาอ้างว่าพยานโจทก์ทุกปาก เว้นแต่เจ้าพนักงานที่ดินเบิกความว่าการออกหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส.3 ก.) เมื่อปี 2541 นั้นถูกต้อง การที่ศาลชั้นต้นวินิจฉัยว่าการออกหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส.3 ก.) ของนายวาน แพงมาก เป็นการออกโดยไม่ถูกต้องเป็นการวินิจฉัยผิดไปจากพยานหลักฐานในสำนวนหรือนอกเหนือจากสำนวนนั้น เห็นว่า การวินิจฉัยของศาลชั้นต้นดังกล่าวอาศัยพยานหลักฐานตามที่ปรากฏอยู่ในสำนวน ส่วนจะเชื่อพยานฝ่ายใดย่อมเป็นดุลพินิจในการชั่งน้ำหนักพยานหลักฐาน หาใช่การวินิจฉัยโดยอาศัยพยานหลักฐานนอกสำนวนหรือผิดจากพยานหลักฐานในสำนวนไม่ ฎีกาจำเลยทั้งสองในข้อนี้ฟังไม่ขึ้น จำเลยทั้งสองฎีกาข้อต่อไปว่าที่มีการนำสืบพยานบุคคลว่า โฉนดที่ดินเลขที่ 17457 ออกโดยไม่ถูกต้องเป็นการนำสืบเปลี่ยนแปลงแก้ไขข้อความในเอกสารต้องห้ามตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 94 เห็นว่า การนำสืบเพื่อพิสูจน์ว่าที่ดินพิพาทเป็นของผู้ใด การออกเอกสารสิทธิที่พิพาทชอบหรือไม่ ไม่มีกฎหมายบังคับให้ต้องมีเอกสารมาแสดง อีกทั้งมิใช่การนำสืบเพิ่มเติม ตัดทอนหรือเปลี่ยนแปลงแก้ไขข้อความในเอกสาร จึงสามารถนำสืบพยานบุคคลได้ไม่ต้องห้ามตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 94ฎีกาจำเลยทั้งสองในข้อนี้ฟังไม่ขึ้น มีปัญหาต้องวินิจฉัยฎีกาของจำเลยทั้งสองต่อไปว่าการที่จำเลยทั้งสองซื้อที่ดินพิพาทมาโดยสุจริตและจดทะเบียนการซื้อขายต่อพนักงานเจ้าหน้าที่แล้ว จำเลยทั้งสองจะต้องได้กรรมสิทธิ์ในที่ดินพิพาทหรือไม่ เห็นว่า เมื่อข้อเท็จจริงรับฟังได้ว่าที่ดินพิพาทเป็นของโจทก์ นายวานนำที่ดินพิพาทของโจทก์ไปขอออกหนังสือรับรองการทำประโยชน์โดยไม่ชอบ และนายวานไม่ได้ครอบครองทำประโยชน์ในที่ดินพิพาท นายวานจึงไม่ใช่ผู้มีสิทธิในที่ดินพิพาท การที่นายวานนำที่ดินพิพาทไปขายให้จำเลยทั้งสอง แม้จำเลยทั้งสองจะซื้อและจดทะเบียนการซื้อขายโดยสุจริต จำเลยทั้งสองก็หามีสิทธิในที่ดินพิพาทไม่ เพราะผู้ซื้อต้องรับไปเพียงสิทธิของผู้ขายเท่านั้น เมื่อนายวานผู้ขายไม่มีสิทธิในที่ดินพิพาท จำเลยทั้งสองผู้ซื้อจึงย่อมไม่มีสิทธิในที่ดินพิพาทด้วย ฎีกาจำเลยทั้งสองในข้อนี้ฟังไม่ขึ้น มีปัญหาต้องวินิจฉัยฎีกาของจำเลยทั้งสองต่อไปว่า การที่ที่ดินพิพาททางราชการได้ออกโฉนดแล้วตามโฉนดที่ดินเลขที่ 17457 ซึ่งตามโฉนดจำเลยที่ 1 เป็นผู้มีกรรมสิทธิ์ในที่ดินพิพาทดังนั้นจำเลยที่ 1 จึงต้องเป็นเจ้าของผู้มีกรรมสิทธิ์ในที่ดินพิพาท เห็นว่า ไม่มีกฎหมายบัญญัติไว้ดังที่จำเลยทั้งสองอ้างในฎีกา กฎหมายเพียงให้เป็นข้อสันนิษฐานไว้เท่านั้นว่า อสังหาริมทรัพย์ที่ได้จดทะเบียนไว้ในทะเบียนที่ดิน ผู้มีชื่อในทะเบียนเป็นผู้มีสิทธิครอบครอง ทั้งนี้ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1373 ดังนั้นจึงสามารถนำสืบข้อเท็จจริงหักล้างข้อสันนิษฐานดังกล่าวได้ ฎีกาจำเลยทั้งสองในข้อนี้ฟังไม่ขึ้น มีปัญหาต้องวินิจฉัยฎีกาของจำเลยทั้งสองเป็นข้อสุดท้ายว่า ศาลอุทธรณ์ภาค 1 พิพากษาเกินคำขอหรือไม่ โดยจำเลยทั้งสองฎีกาว่า ตามคำขอท้ายฟ้องโจทก์ขอให้จำเลยที่ 2 ไปดำเนินการจดทะเบียนโอนที่ดินพิพาทให้โจทก์ ดังนั้นที่ศาลอุทธรณ์ภาค 1 พิพากษาให้จำเลยที่ 1 ไปยื่นคำขอเพิกถอนโฉนดที่ดินพิพาทจึงเกินคำขอนั้น เห็นว่า แม้ตามคำขอท้ายฟ้องโจทก์จะขอให้จำเลยที่ 2 จดทะเบียนโอนโฉนดที่ดินพิพาทเป็นชื่อของโจทก์ก็ตาม แต่ก็มีข้อความต่อไปว่า ถ้าจำเลยที่ 1 ไม่ไปให้ถือเอาคำพิพากษาของศาลแทนการแสดงเจตนาของจำเลยที่ 1 ด้วย จากข้อความดังกล่าวย่อมชัดแจ้งว่า เป็นเพียงการพิมพ์ผิดเท่านั้น ที่ถูกโจทก์ต้องการให้จำเลยที่ 1 โอนที่ดินพิพาทให้โจทก์ แต่พิมพ์ผิดเป็นจำเลยที่ 2 โจทก์หาได้ประสงค์ให้จำเลยที่ 2 โอนที่ดินพิพาทให้โจทก์ไม่ คำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 1 จึงไม่เกินคำขอ ฎีกาจำเลยทั้งสองในข้อนี้ฟังไม่ขึ้นเช่นกัน
อนึ่งที่ศาลอุทธรณ์ภาค 1 วินิจฉัยว่า ผู้มีอำนาจสั่งเพิกถอนโฉนดที่ดินที่ออกโดยไม่ชอบ คือผู้ว่าราชการจังหวัด เมื่อคดีนี้ผู้ว่าราชการจังหวัดมิได้เป็นคู่ความ ศาลมิอาจพิพากษาให้มีผลบังคับถึงบุคคลภายนอกคดีได้ คงพิพากษาได้เพียงให้จำเลยที่ 1 ไปยื่นคำขอเพิกถอนโฉนดที่ดินพิพาทเท่านั้น เห็นว่า เมื่อปรากฏว่าโฉนดที่ดินเลขที่ 17457ออกโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย แม้โจทก์จะมิได้ขอให้ศาลเพิกถอน ศาลก็ชอบที่จะพิพากษาให้เพิกถอนโฉนดที่ดินที่ออกโดยไม่ชอบนั้นได้ คำพิพากษาศาลชั้นต้นที่ให้เพิกถอนโฉนดที่ดินมิได้บังคับบุคคลภายนอกดังที่ศาลอุทธรณ์ภาค 1 เข้าใจ แต่เป็นการบังคับเฉพาะคู่ความในคดีนี้เท่านั้น ศาลชั้นต้นจึงมีอำนาจพิพากษาให้เพิกถอนโฉนดที่ดินได้ ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 1 พิพากษานั้นศาลฎีกาไม่เห็นพ้องด้วย จึงสมควรแก้ไขให้ถูกต้อง"
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้บังคับคดีไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
( มานะ ศุภวิริยกุล - วิรัช ลิ้มวิชัย - สดศรี สัตยธรรม )
ป.พ.พ. มาตรา 1373
มาตรา 1373 ถ้าทรัพย์สินเป็นอสังหาริมทรัพย์ที่ได้จดไว้ในทะเบียนที่ดิน ท่านให้สันนิษฐานไว้ก่อนว่าบุคคลผู้มีชื่อในทะเบียนเป็นผู้มีสิทธิครอบครอง
ป.วิ.พ. มาตรา 94, 142
มาตรา 94 เมื่อใดมีกฎหมายบังคับให้ต้องมีพยานเอกสารมาแสดง ห้ามมิให้ศาลยอมรับฟังพยานบุคคลในกรณีอย่างใดอย่างหนึ่งดั่งต่อไปนี้ แม้ถึงว่าคู่ความอีกฝ่ายหนึ่งจะได้ยินยอมก็ดี
(ก) ขอสืบพยานบุคคลแทนพยานเอกสาร เมื่อไม่สามารถนำเอกสาร มาแสดง
(ข) ขอสืบพยานบุคคลประกอบข้ออ้างอย่างใดอย่างหนึ่ง เมื่อ ได้นำเอกสารมาแสดงแล้วว่า ยังมีข้อความเพิ่มเติมตัดทอน หรือ เปลี่ยนแปลงแก้ไขข้อความในเอกสารนั้นอยู่อีก
แต่ว่าบทบัญญัติแห่ง มาตรานี้ มิให้ใช้บังคับในกรณีที่บัญญัติไว้ ใน อนุมาตรา (2) แห่ง มาตรา 93 และมิให้ถือว่าเป็นการตัดสิทธิคู่ความ ในอันที่จะกล่าวอ้างและนำพยานบุคคลมาสืบประกอบข้ออ้างว่า พยานเอกสารที่แสดงนั้นเป็นเอกสารปลอม หรือไม่ถูกต้องทั้งหมด หรือแต่บางส่วน หรือสัญญาหรือหนี้อย่างอื่นที่ระบุไว้ในเอกสารนั้น ไม่สมบูรณ์หรือคู่ความอีกฝ่ายหนึ่งตีความหมายผิด
มาตรา 142 คำพิพากษาหรือคำสั่งของศาลที่ชี้ขาดคดีต้องตัดสิน ตามข้อหาในคำฟ้องทุกข้อ แต่ห้ามมิให้พิพากษาหรือคำสั่งให้สิ่งใด ๆ เกินไปกว่าหรือนอกจากที่ปรากฏในคำฟ้อง เว้นแต่
(1) ในคดีฟ้องเรียกอสังหาริมทรัพย์ ให้พึงเข้าใจว่าเป็นประเภท เดียวกับฟ้องขอให้ขับไล่จำเลย ถ้าศาลพิพากษาให้โจทก์ชนะคดีเมื่อ ศาลเห็นสมควรศาลจะมีคำสั่งให้ขับไล่จำเลยก็ได้ คำสั่งเช่นว่านี้ให้ใช้ บังคับตลอดถึงวงศ์ญาติทั้งหลายและบริวารของจำเลยที่อยู่บน อสังหาริมทรัพย์นั้น ซึ่งไม่สามารถแสดงอำนาจพิเศษให้ศาลเห็นได้
(2) ในคดีที่โจทก์ฟ้องเรียกทรัพย์ใด ๆ เป็นของตนทั้งหมด แต่ พิจารณาได้ความว่าโจทก์ควรได้แต่ส่วนแบ่ง เมื่อศาลเห็นสมควร ศาลจะพิพากษาให้โจทก์ได้รับแต่ส่วนแบ่งนั้นก็ได้
(3) ในคดีที่โจทก์ฟ้องขอให้ชำระเงิน พร้อมด้วยดอกเบี้ยจนถึง วันฟ้อง เมื่อศาลเห็นสมควรศาลจะพิพากษาให้จำเลยชำระดอกเบี้ย จนถึงวันที่ได้ชำระเสร็จตามคำพิพากษาก็ได้
(4) ในคดีที่โจทก์ฟ้องเรียกค่าเช่าหรือค่าเสียหายอันต่อเนื่อง คำนวณถึงวันฟ้อง เมื่อศาลเห็นสมควร ศาลจะพิพากษาให้ชำระค่า เช่าและค่าเสียหายเช่นว่านี้ จนถึงวันที่ได้ชำระเสร็จตามคำพิพากษา ก็ได้
(5) ในคดีที่อาจยกข้อกฎหมายอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อย ของประชาชนขึ้นอ้างได้นั้นเมื่อศาลเห็นสมควรศาลจะยกข้อเหล่านั้น ขึ้นวินิจฉัยแล้วพิพากษาคดีไปก็ได้
(6) ในคดีที่โจทก์ฟ้องขอให้ชำระเงินพร้อมด้วยดอกเบี้ย ซึ่งมิได้มี ข้อตกลงกำหนดอัตราดอกเบี้ยกันไว้ เมื่อศาลเห็นสมควรโดยคำนึง ถึงเหตุสมควรและความสุจริตในการสู้ความหรือการดำเนินคดี ศาล จะพิพากษาให้จำเลยชำระดอกเบี้ยในอัตราที่สูงขึ้นกว่าที่โจทก์มีสิทธิ ได้รับตามกฎหมาย แต่ไม่เกินร้อยละสิบห้าต่อปีนับตั้งแต่วันฟ้อง หรือวันอื่นหลังจากนั้นก็ได้
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3975/2533
แม้จำเลยซื้อที่ดินพิพาทจากผู้ขายและเข้าอยู่ในที่ดินพิพาทแล้วก็ตาม เมื่อปรากฏว่าผู้ขายไม่ใช่เจ้าของกรรมสิทธิ์หรือสิทธิครอบครองที่ดินพิพาท เป็นแต่เพียงผู้อาศัยสิทธิของโจทก์อยู่ในที่พิพาท จำเลยย่อมไม่ได้สิทธิครอบครองที่พิพาท เพราะผู้รับโอนไม่มีสิทธิดีไปกว่าผู้โอน จำเลยคงมีสิทธิเท่าที่ผู้ขายมีอยู่ จึงเท่ากับอยู่ในที่พิพาทโดยอาศัยสิทธิของโจทก์เช่นกัน ดังนั้น จำเลยอยู่ในที่ดินพิพาทนานเท่าใดก็ไม่ได้สิทธิครอบครอง เว้นแต่จะเปลี่ยนลักษณะแห่งการยึดถือตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1381
จำเลยเพิ่งโต้แย้งสิทธิโจทก์ซึ่งถือว่าจำเลยได้เปลี่ยนลักษณะแห่งการยึดถือที่ดินพิพาท ซึ่งนับถึงวันฟ้องแล้วยังไม่เกิน 1 ปี โจทก์ย่อมมีสิทธิฟ้องเอาคืนที่ดินพิพาทจากจำเลยได้ ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 1375
โจทก์ฟ้องว่า โจทก์ซื้อที่ดิน น.ส.๓ เลขที่ ๒๕๙/๓๕ ตำบลดงบังอำเภอเซกา จังหวัดหนองคาย จากนายสิงห์ มะณีกรรณ์ เมื่อ พ.ศ.๒๕๑๑ แล้วให้นายสิงห์กับนางเสี้ยน ศรีทอง ภรรยานายสิงห์และบริวารอาศัยอยู่ในที่ดินแปลงดังกล่าวตลอดมา ต่อมาจำเลยและบริวารได้ปลูกบ้านอาศัยอยู่ในที่ดินของโจทก์โจทก์บอกกล่าวให้จำเลยและบริวารออกจากที่ดินแล้ว แต่จำเลยเพิกเฉย ขอให้จำเลยรื้อบ้านออกจากที่ดินของโจทก์ ห้ามจำเลยและบริวารเข้าเกี่ยวข้องกับที่ดินของโจทก์ต่อไป
จำเลยให้การว่า โจทก์ไม่ได้ซื้อที่ดินตามฟ้องจากนายสิงห์แต่ได้ยืมที่ดินของนายสิงห์ไปประกันเงินกู้ของโจทก์ โดยโจทก์กับนายสิงห์ทำเป็นสัญญาซื้อขายกัน การซื้อขายระหว่างโจทก์กับนายสิงห์จึงเป็นนิติกรรมอำพรางจำเลยเป็นเจ้าของที่ดินตามฟ้อง โดยซื้อมาจากนายสิงห์เมื่อ พ.ศ.๒๕๑๗ ในราคา๑๐,๐๐๐ บาท แต่ยังไม่ได้โอนกรรมสิทธิ๎ นายสิงห์ก็ถึงแก่กรรมเสียก่อน จำเลยครอบครองที่ดินดังกล่าวด้วยความสงบ เปิดเผย เจตนาเป็นเจ้าของ ไม่มีผู้ใดรบกวนติดต่อมาเป็นเวลาเกิน ๑๐ ปีแล้ว จึงได้สิทธิครอบครองและกรรมสิทธิ์ขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้อง
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษากลับ ให้จำเลยรื้อถอนบ้านออกไปจากที่ดินพิพาท ห้ามจำเลยและบริวารเกี่ยวข้องกับที่ดินพิพาทต่อไป
จำเลยฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า แม้จะฟังได้ว่าจำเลยได้ซื้อที่ดินพิพาทจากนายสิงห์ นางเสี้ยนก็ตาม แต่เมื่อปรากฏว่านายสิงห์ นางเสี้ยน มิใช่เจ้าของกรรมสิทธิ์หรือสิทธิครอบครองในที่ดินพิพาท เป็นแต่เพียงผู้อาศัยสิทธิของโจทก์อยู่ในที่ดินพิพาท นายสิงห์ นางเสี้ยนจึงไม่มีสิทธินำที่ดินพิพาทไปขายให้จำเลยแต่ประการใด ฉะนั้นถึงแม้ได้ความว่าจำเลยได้ซื้อที่ดินพิพาทมาจากนายสิงห์นางเสี้ยน และเข้าอยู่ในที่ดินพิพาทแล้วก็ตาม แต่จำเลยก็มิได้สิทธิครอบครองในที่ดินพิพาท เพราะผู้รับโอนไม่มีสิทธิดีไปกว่าผู้โอน จำเลยคงมีสิทธิเท่าที่นายสิงห์ นางเสี้ยน มีอยู่ กล่าวคือเท่ากับจำเลยอยู่ในที่ดินพิพาทโดยอาศัยสิทธิของโจทก์เท่านั้น ฉะนั้นจำเลยอยู่ในที่ดินพิพาทของโจทก์นานเท่าใดก็ไม่ได้สิทธิครอบครองเว้นแต่จำเลยจะเปลี่ยนลักษณะแห่งการยึดถือ โดยบอกกล่าวไปยังโจทก์ผู้ครอบครองที่ดินพิพาทว่าไม่เจตนาจะยึดถือที่ดินพิพาทแทนโจทก์ แต่จะยึดถือเพื่อตนต่อไป ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา ๑๓๘๑ และตามข้อเท็จจริงที่โจทก์จำเลยนำสืบรับฟังได้ว่า จำเลยเพิ่งโต้แย้งสิทธิโจทก์ ซึ่งถือได้ว่าจำเลยได้เปลี่ยนลักษณะแห่งการยึดถือที่ดินพิพาทเพื่อตน ไม่ยึดถือไว้แทนโจทก์ต่อไป เมื่อเดือนพฤษภาคม ๒๕๒๘ ที่บ้านนายสีกำนันตำบลดงบัง โจทก์ฟ้องคดีนี้เมื่อวันที่ ๘สิงหาคม ๒๕๒๘ จึงยังไม่เกิน ๑ ปี นับแต่เวลาถูกแย่งการครอบครอง โจทก์มีสิทธิฟ้องเอาคืนที่ดินพิพาทจากจำเลยได้ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา๑๓๗๕ ศาลอุทธรณ์พิพากษาชอบแล้ว ฎีกาจำเลยฟังไม่ขึ้น
พิพากษายืน.
( พนม พ่วงภิญโญ - ประชา บุญวนิช - บุญส่ง วรรณกลาง )
ศาลจังหวัดหนองคาย - นายปรัชญา โกไศยกานนท์
ศาลอุทธรณ์ - นายประคนธ์ พันธุ์วิชาติกุล
ป.พ.พ. มาตรา 1367, 1375, 1381
มาตรา 1367 บุคคลใดยึดถือทรัพย์สินโดยเจตนาจะยึดถือเพื่อตน ท่านว่าบุคคลนั้นได้ซึ่งสิทธิครอบครอง
มาตรา 1375 ถ้าผู้ครอบครองถูกแย่งการครอบครองโดยมิชอบด้วย กฎหมายไซร้ ท่านว่าผู้ครอบครองมีสิทธิจะได้คืนซึ่งการครอบครองเว้นแต่อีก ฝ่ายหนึ่งมีสิทธิเหนือทรัพย์สินดีกว่าซึ่งจะเป็นเหตุให้เรียกคืนจากผู้ครอบครอง ได้
การฟ้องคดีเพื่อเอาคืนซึ่งการครอบครองนั้น ท่านว่าต้องฟ้องภายในปี หนึ่งนับแต่เวลาถูกแย่งการครอบครอง
มาตรา 1381 บุคคลใดยึดถือทรัพย์สินอยู่ในฐานะเป็นผู้แทนผู้ครอบครอง บุคคลนั้นจะเปลี่ยนลักษณะแห่งการยึดถือได้ ก็แต่โดยบอกกล่าวไปยังผู้ครอบ ครองว่าไม่เจตนาจะยึดถือทรัพย์สินแทนผู้ครอบครองต่อไป หรือตนเองเป็นผู้ ครอบครองโดยสุจริต อาศัยอำนาจใหม่อันได้จากบุคคลภายนอก
ข้อสังเกต* แม้มาตรา 453 จะบัญญัติถึงแต่เรื่องโอนกรรมสิทธิ์แห่งทรัพย์สินที่ซื้อขาย แต่ก็รวมถึงสิทธิครอบครองในกรณีซื้อขายที่ดินมือเปล่าซึ่งผู้เป็นเจ้าของทรัพย์มีได้ แต่เพียงสิทธิครอบครองเท่านั้นด้วย
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 693/2534
จำเลยเป็นผู้มีสิทธิครอบครองที่ดินพิพาท ได้ให้ ต. เช่า ต.ให้อ.อาศัยอยู่ในที่ดินพิพาทดังนั้นแม้อ. จะขาย ที่ดินพิพาทให้โจทก์จริง อ. ก็ไม่มีสิทธิครอบครองที่จะโอนให้ โจทก์ โจทก์จึงไม่ได้สิทธิครอบครองที่ดินพิพาทและไม่มีอำนาจฟ้องจำเลย
โจทก์ฟ้องว่า โจทก์เป็นผู้มีสิทธิครอบครองที่ดินพิพาท โดยซื้อมาจากนายอารมย์ จูวัฒนาสำราญ ผู้ครอบครอง และทำประโยชน์ในที่ดินพิพาทมาตั้งแต่ พ.ศ. 2500 ต่อมาจำเลยที่ 2 ได้สมคบกับนายอำเภอบรบือยื่นคำขอจับจองที่ดินพิพาท นายอำเภอบรบือได้ออกใบจองให้ ในวันเดียวกันจำเลยที่ 2 ได้ยื่นคำขอให้ออกหนังสือรับรองการทำประโยชน์ในที่ดินพิพาท ต่อมาอำเภอบรบือได้ออกหนังสือรับรองการทำประโยชน์ให้ จำเลยที่ 2 ได้ทำสัญญายกที่ดินพิพาทให้แก่จำเลยที่ 1 โดยเสน่หา การกระทำของจำเลยทั้งสองเป็นการฉ้อฉลเพื่อให้ที่ดินของนายอารมย์ตกเป็นของจำเลยที่ 1จำเลยที่ 1 ได้ก่อสร้างตลาดสดและถนนในที่ดินพิพาท โดยไม่ได้รับอนุญาต ทำให้โจทก์เสียหาย ขอให้มีคำพิพากษาแสดงว่าโจทก์เป็นผู้มีสิทธิครอบครองที่ดินพิพาท เพิกถอนนิติกรรมที่จำเลยทั้งสองทำขึ้นทุกฉบับ ห้ามจำเลยที่ 1 ก่อสร้างตลาดสดและถนนในที่ดินพิพาทและให้จำเลยที่ 1 ออกจากที่ดินพิพาท จำเลยทั้งสองให้การว่าโจทก์ไม่มีสิทธิครอบครองที่ดินพิพาทจึงไม่ถูกโต้แย้งสิทธิ ไม่มีอำนาจฟ้อง ฟ้องโจทก์เป็นฟ้องซ้ำ โจทก์นำคดีมาฟ้องเกิน 1 ปีนับแต่ถูกแย่งการครอบครอง โจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้อง ขอให้ยกฟ้องศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้อง โจทก์อุทธรณ์ ศาลอุทธรณ์พิพากษายืนโจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า "พิเคราะห์แล้ว ข้อที่ต้องวินิจฉัยตามที่โจทก์ฎีกามีว่า โจทก์มีสิทธิครอบครองที่ดินพิพาทหรือไม่โจทก์นำสืบว่า เดิมที่ดินพิพาทเป็นที่ดินมือเปล่า มีจ่าสิบตำรวจโต๊ะเป็นผู้ครอบครอง จ่าสิบตำรวจโต๊ะขายที่พิพาทให้แก่นายแป๊ะกุ่ย แซ่โค้ว ในราคา 2,000 บาท นายแป๊ะกุ่ยขายให้นายอารมย์ 10,000 บาท และนายอารมย์ขายให้โจทก์ในราคา 400,000 บาท โจทก์ไม่ได้เข้าครอบครองที่ดินพิพาทโดยให้นายอารมย์เช่าปีละ 5,000 บาท จำเลยนำสืบว่า เดิมที่ดินพิพาทเป็นของจ่าสิบตำรวจโต๊ะจ่าสิบตำรวจโต๊ะยกให้แก่อำเภอบรบือ อำเภอบรบือให้นายเต็งลิ้มเช่าปีละ 500 บาท ต่อมาเมื่อมีการจัดตั้งสุขาภิบาลอำเภอบรบือจำเลยที่ 1 ขึ้น ทางอำเภอบรบือจึงยกที่ดินพิพาทให้แก่จำเลยที่ 1 จำเลยที่ 1 ยังคงให้นายเต็งลิ้มเช่าตลอดมา ในพ.ศ. 2511 คณะกรรมการของจำเลยที่ 1 เห็นว่าที่ดินพิพาทยังไม่มีหนังสือแสดงสิทธิ จึงประชุมและลงมติให้จำเลยที่ 2 ซึ่งเป็นกรรมการของจำเลยที่ 1 ไปดำเนินการจำเลยที่ 2 ได้ยื่นคำขอจับจองที่ดินพิพาทและขอออกหนังสือรับรองการทำประโยชน์ที่ดินพิพาท เมื่อเจ้าพนักงานที่ดินได้ดำเนินการตามระเบียบแล้ว ได้ออกหนังสือรับรองการทำประโยชน์ที่ดินพิพาทให้แก่จำเลยที่ 2 ซึ่งจำเลยที่ 2 ได้ทำการโอนใส่ชื่อจำเลยที่ 1 ลงในหนังสือรับรองการทำประโยชน์ทันที เห็นว่า นอกจากจำเลยจะมีนายไมตรี ไนยะกูล นายประถม ศิริมาลา นายจำนูญ กาวิละ ซึ่งเคยรับราชการในตำแหน่งนายอำเภอบรบือ และเป็นประธานกรรมการของจำเลยที่ 1 เข้าเบิกความยืนยันข้อเท็จจริงดังกล่าวนี้แล้วยังมีเอกสารซึ่งแสดงว่าจำเลยที่ 1 เป็นผู้ครอบครองที่ดินพิพาทคือ หนังสือรับรองการทำประโยชน์ หลักฐานการขอออกหนังสือรับรองการทำประโยชน์ของจำเลยที่ 2 หลักฐานที่จำเลยที่ 2 ยกที่ดินพิพาทให้แก่จำเลยที่ 1 ปรากฏตามเอกสารหมาย ล.1 และ ล.7 นอกจากนี้จำเลยยังมีเอกสารซึ่งแสดงว่านายเต็งลิ้มเป็นผู้เช่าที่ดินพิพาทจากจำเลยที่ 1 ปรากฏตามเอกสารหมาย ล.2 ล.3 ล.8 และ ล.9 ส่วนโจทก์มีแต่พยานบุคคลเข้าเบิกความลอย ๆ ว่า ได้มีการซื้อขายที่ดินพิพาทต่อกันมาเป็นทอด ๆ แต่ไม่มีสัญญาซื้อขายมาแสดงนอกจากนั้นนายอารมย์เบิกความว่า นายอารมย์ร่วมกับนายเต็งลิ้มซื้อที่ดินพิพาทจากนายแป๊ะกุ่ย ซึ่งถ้าคนทั้งสองซื้อที่ดินพิพาทจากนายแป๊ะกุ่ยจริง นายเต็งลิ้มก็ไม่มีความจำเป็นที่จะต้องเช่าที่ดินพิพาทจากผู้ใด ส่วนที่นายอารมย์ยังไม่ได้ขอหนังสือรับรองการทำประโยชน์นั้น นายอารมย์อ้างว่านายเต็งลิ้มเป็นคนต่างด้าวไม่อาจมีกรรมสิทธิ์ในที่ดินได้ จึงตกลงว่ารอให้ลูกชายของนายเต็งลิ้มโตเสียก่อนจึงจะไปขอออกหนังสือรับรองการทำประโยชน์ เพื่อจะได้ใส่ชื่อลูกชายของนายเต็งลิ้มลงในหนังสือรับรองการทำประโยชน์ เห็นว่า เป็นข้ออ้างที่ปราศจากเหตุผล เพราะหากนายอารมย์ซื้อที่ดินพิพาทจริงนายอารมย์ก็สามารถที่จะขอให้ทางราชการออกหนังสือรับรองการทำประโยชน์ในชื่อของตนเองก่อนได้ และเมื่อลูกชายนายเต็งลิ้มโต จะเพิ่มชื่อลงในหนังสือรับรองการทำประโยชน์ก็ย่อมทำได้ พยานหลักฐานของจำเลยทั้งสองมีน้ำหนักมากกว่าพยานหลักฐานของโจทก์ คดีฟังได้ว่า ที่ดินพิพาทเป็นของจำเลยที่ 1 และให้นายเต็งลิ้มเช่า นายอารมย์อยู่ในที่ดินพิพาทโดยอาศัยสิทธิการเช่าของนายเต็งลิ้ม ดังนั้นแม้นายอารมย์ขายที่ดินพิพาทให้โจทก์จริง นายอารมย์ก็ไม่มีสิทธิครอบครองที่จะโอนให้โจทก์ได้ โจทก์จึงไม่ได้สิทธิครอบครองที่ดินพิพาทเมื่อโจทก์ไม่ใช่ผู้มีสิทธิครอบครองจึงไม่มีอำนาจฟ้องจำเลยทั้งสองศาลล่างทั้งสองศาลพิพากษายกฟ้องโจทก์ชอบแล้ว ฎีกาของโจทก์ฟังไม่ขึ้น"
พิพากษายืน
( สุวิทย์ ธีรพงษ์ - ไมตรี กลั่นนุรักษ์ - อุไร คังคะเกตุ )
ป.พ.พ. มาตรา 1378, 1402
มาตรา 1378 การโอนไปซึ่งการครอบครองนั้น ย่อมทำได้โดยส่งมอบทรัพย์สิน ที่ครอบครอง
มาตรา 1402 บุคคลใดได้รับสิทธิอาศัยในโรงเรือน บุคคลนั้นย่อมมี สิทธิอยู่ในโรงเรือนนั้นโดยไม่ต้องเสียค่าเช่า
ป.วิ.พ. มาตรา 55
มาตรา 55 เมื่อมีข้อโต้แย้งเกิดขึ้น เกี่ยวกับสิทธิหรือหน้าที่ของ บุคคลใดตามกฎหมายแพ่ง หรือบุคคลใดจะต้องใช้สิทธิทางศาล บุคคลนั้นชอบที่จะเสนอคดีของตนต่อศาลส่วนแพ่งที่มีเขตอำนาจได้ ตามบทบัญญัติแห่งกฎหมายแพ่งและประมวลกฎหมายนี้
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 387/2535
ที่ดินพิพาทตาม น.ส.3 เลขที่ 114 เป็นของ ป. สามีโจทก์และโจทก์ร่วมกันโดย ป. ซื้อมาจาก น. และเมื่อซื้อมาแล้วป. มอบให้ ส. สามี จำเลยครอบครองแทน แม้ต่อมา น. จะยื่นคำขอออก น.ส.3 ก็เป็นการกระทำภายหลังจากที่ น. ได้ขายที่ดินพิพาทให้ ป. และโจทก์ไปแล้ว จึงหาทำให้ น. กลับเป็นผู้มีสิทธิครอบครองที่ดินพิพาทอีกไม่ เมื่อ น. ไม่มีสิทธิในที่ดินพิพาทต่อมาแม้ น. จะได้จดทะเบียนโอนขายที่ดินพิพาทให้ ส. ก็หาทำให้ส.มีสิทธิดีไปกว่าน.ผู้โอนไม่กรณีที่ส. กระทำการดังกล่าว ก็ถือไม่ได้ว่าเป็นการแย่งการครอบครองโดยเปลี่ยนลักษณะแห่งการยึดถือไปยัง ป. และโจทก์ ที่ดินพิพาทยังคงเป็นของ ป. และโจทก์ โดย ส. เป็นผู้ครอบครองแทน ส่วนที่ดินพิพาทตาม น.ส.3 ก. เลขที่ 229 ที่จำเลยไปขอออก น.ส.3 ก. ในนามจำเลยนั้นก็มิได้หมายความว่า ส. หรือจำเลยได้เปลี่ยนลักษณะแห่งการยึดถือไปยัง ป. หรือโจทก์การที่จำเลยครอบครองที่ดินตามน.ส.3 เลขที่ 114 ก็ดี ตาม น.ส.3 ก. เลขที่ 229 ก็ดี เป็นการสืบสิทธิของ ส. จึงเป็นการครอบครองแทนโจทก์ แม้จะครอบครองนานเท่าใดก็ไม่ได้สิทธิครอบครอง ศาลอุทธรณ์พิพากษาให้เพิกถอนนิติกรรมการจดทะเบียนการขายที่ดินพิพาท น.ส.3 เลขที่ 114 ระหว่าง น. กับ ส. ซึ่งแม้จะเป็นนิติกรรมที่ใช้ยันโจทก์ไม่ได้ก็ตาม แต่ก็เป็นการพิพากษาเกินคำขอและเป็นการกระทบสิทธิของ น. ซึ่งเป็นบุคคลภายนอกคดีซึ่งเป็นเรื่องที่โจทก์ต้องไปดำเนินการเองศาลฎีกาเห็นสมควรแก้ไขเสียให้ถูกต้องโดยไม่พิพากษาเพิกถอนนิติกรรมการจดทะเบียนดังกล่าว
โจทก์ฟ้องว่า โจทก์เป็นเจ้าของที่ดินหนึ่งแปลงอยู่ที่หมู่ที่ 8 ตำบลกบินทร์ อำเภอกบินทร์บุรี จังหวัดปราจีนบุรีเนื้อที่ประมาณ 70 ไร่ โดยโจทก์และสามีซื้อมาจากนางนาง ปัสทิสามะ เมื่อปี 2509 แล้วมอบให้นายสุวรรณ สุริยวงษ์ซึ่งเป็นสามีจำเลยครอบครองดูแลแทน เพื่อมีรายได้อุปการะเลี้ยงดูมารดาโจทก์ จนกระทั่งปี 2521 ศาลชั้นต้นมีคำสั่งว่านายสุวรรณเป็นคนสาปสูญ จำเลยยื่นคำร้องขอเป็นผู้จัดการมรดกโจทก์จึงทราบว่า เมื่อปี 2509 ในขณะที่นายสุวรรณครอบครองที่ดินแทนโจทก์อยู่นั้น ได้สมคบกับนางนางแจ้งข้อความอันเป็นเท็จต่อเจ้าพนักงานที่ดินว่า นางนางเป็นผู้มีสิทธิครอบครองที่ดินดังกล่าวทางด้านทิศเหนือ เนื้อที่ประมาณ 35 ไร่ 3 งาน 79 ตารางวาจนเจ้าพนักงานที่ดินออกหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส.3)ทะเบียนเล่ม 3 หน้า 56 สารบบเลขที่ 114 หมู่ที่ 8ตำบลกบินทร์ อำเภอกบินทร์บุรี จังหวัดปราจีนบุรี ให้ และนางนางได้โอนที่ดินดังกล่าวให้นายสุวรรณ ในวันเดียวกันและเมื่อปี 2517 จำเลยได้แจ้งข้อความอันเป็นเท็จต่อเจ้าพนักงานที่ดินว่าจำเลยเป็นผู้มีสิทธิครอบครองในที่ดินของโจทก์ เนื้อที่ประมาณ 23 ไร่ 2 งาน 40 ตารางวา เพื่อขอหนังสือรับรองการทำประโยชน์ เจ้าพนักงานที่ดินจึงออกหนังสือรับรองการทำประโยชน์ให้ คือ น.ส.3 ก. ทะเบียนเลขที่ 229 ตำบลกบินทร์อำเภอกบินทร์บุรี จังหวัดปราจีนบุรี ขอให้พิพากษาว่า โจทก์เป็นผู้มีสิทธิครอบครองในที่ดินตามฟ้องตามกฎหมาย ขับไล่จำเลยและบริวารออกจากที่ดิน ห้ามยุ่งเกี่ยวต่อไป ให้เพิกถอน น.ส.3 ทะเบียนเล่ม 3 หน้า 56 สารบบเลขที่ 114หมู่ที่ 8 และ น.ส.3 ก. ทะเบียนเลขที่ 229
จำเลยให้การว่า ที่ดินตามหนังสือรับรองการทำประโยชน์ทะเบียนเล่ม 3 หน้า 56 สารบบเลขที่ 114 หมู่ที่ 8 เนื้อที่35 ไร่ 3 งาน 79 ตารางวา เป็นที่ดินซึ่งนายสุวรรณร่วมซื้อกับสามีโจทก์แล้วต่อมาสามีโจทก์ขายส่วนของตนให้นายสุวรรณส่วนที่ดินแปลงเนื้อที่ 23 ไร่ 2 งาน 40 ตารางวา เดิมเป็นของบิดามารดานายสุวรรณ และโจทก์ แล้วยกให้นายสุวรรณและจำเลย จำเลยจึงไปขอออกหนังสือรับรองการทำประโยชน์โจทก์ฟ้องคดีเกิน 1 ปี นับแต่ถูกแย่งการครอบครอง ขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้อง ศาลอุทธรณ์พิพากษากลับว่า โจทก์เป็นผู้มีสิทธิครอบครองที่พิพาท ให้ขับไล่จำเลยและบริวารออกจากที่พิพาทห้ามเกี่ยวข้องอีกต่อไป และให้เพิกถอนนิติกรรมจดทะเบียนการขายที่ดินระหว่างนางนาง ปัสทิสามะ กับนายสุวรรณ สุริยวงษ์เมื่อวันที่ 25 กรกฎาคม 2509 ตาม น.ส.3 ทะเบียนเล่ม 3 หน้า 56สารบบเลขที่ 114 หมู่ที่ 8 ตำบลกบินทร์ อำเภอกบินทร์บุรีจังหวัดปราจีนบุรี และให้เพิกถอน น.ส.3 ก. ทะเบียนเลขที่ 229ตำบลกบินทร์ อำเภอกบินทร์บุรี จังหวัดปราจีนบุรี จำเลยฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า "ปัญหาที่จะต้องวินิจฉัยในชั้นนี้มีว่าที่พิพาททั้ง 2 แปลง ตาม น.ส.3 เอกสารหมาย จ.4 และ น.ส.3 ก.เอกสารหมาย จ.3 เป็นของโจทก์หรือของจำเลย ข้อเท็จจริงได้ความว่านายสุวรรณสามีจำเลยเป็นพี่น้องร่วมบิดามารดาเดียวกับโจทก์ได้แต่งงานกับจำเลยเมื่อ พ.ศ. 2508 แล้วอยู่กินด้วยกันฉันสามีภริยาโดยมิได้จดทะเบียนที่บ้านบิดามารดาโจทก์ตลอดมา ส่วนพี่น้องของนายสุวรรณรวมทั้งโจทก์ได้แยกย้ายไปอยู่ที่อื่นนายสุวรรณกับจำเลยยังประกอบกสิกรรมหาเลี้ยงบิดามารดาโจทก์เมื่อเทียบฐานะทางการเงินกับโจทก์และสามีซึ่งรับราชการแล้วนายสุวรรณน่าจะอยู่ในฐานะหาเช้ากินค่ำ เป็นเหตุผลหนึ่งที่ทำให้ไม่น่าเชื่อว่านายสุวรรณจะได้ร่วมกับสามีโจทก์ซื้อที่ดินตามเอกสารหมาย จ.4 ตามที่จำเลยอ้าง พิเคราะห์คำเบิกความของจำเลยที่อ้างว่านายสุวรรณกับสามีโจทก์ได้ร่วมกันซื้อที่ดินแปลงดังกล่าวก็เป็นเพียงจำเลยทราบจากคำบอกเล่าของนายสุวรรณเอง แต่จำเลยก็ยอมรับว่าไม่รู้ว่านายสุวรรณจะร่วมซื้อด้วยจริงหรือไม่ และที่จำเลยว่า ต่อมาสามีโจทก์ได้ขายที่ดินส่วนที่ร่วมซื้อมาให้กับนายสุวรรณนั้น จำเลยไม่เคยบอกให้คนอื่นรู้เพิ่งมาบอกเมื่อถูกฟ้องคดีนี้ คำเบิกความของจำเลยซึ่งไม่มีพยานหลักฐานอื่นสนับสนุนจึงเลื่อนลอย ได้ความจากนายบัวทอง สุริยวงษ์ ซึ่งเป็นพี่ชายคนโตของโจทก์และนายสุวรรณว่า นายสุวรรณเป็นเพียงคนดูแลทรัพย์สินและทำเลี้ยงบิดามารดาเท่านั้น นอกจากนี้ โจทก์มีพยานเอกสารสัญญาซื้อขายซึ่งสามีโจทก์เป็นผู้ซื้อและนางนางเป็นผู้ขายที่ดินประมาณ 70 ไร่ ตามเอกสารหมาย จ.2 มาแสดงทั้งยังมีนายบุญยังหรือบุญทัน สืบจากมี พยานในเอกสารฉบับนั้นมาเบิกความประกอบว่า สามีโจทก์เป็นคนซื้อที่พิพาทแปลงใหญ่จากนางนางแต่ผู้เดียว โดยมีนายสุวรรณเป็นคนเขียนสัญญาเองและเมื่อพิเคราะห์ น.ส.3 เอกสารหมาย จ.4 และ น.ส.3 ก. เอกสารหมาย จ.3 แล้ว น.ส.3 เอกสารหมาย จ.4 ระบุว่าทิศใต้จดที่โจทก์ส่วน น.ส.3 ก. เอกสารหมาย จ.3 ระบุว่าทิศเหนือที่ น.ส.3เลขที่ 114 (น.ส.3 เอกสารหมาย จ.4) เห็นได้ว่าที่ดินทั้งสองแปลงนี้เป็นที่ดินผืนเดียวกัน และที่จำเลยอ้างว่าที่ดิน น.ส.3 ก.เอกสารหมาย จ.3 จำเลยได้มาจากบิดามารดาโจทก์ยกให้นั้น ก็ขัดกับแนวเขตของ น.ส.3 เอกสารหมาย จ.4 ซึ่งออกในปี 2509 ว่า ส่วนที่จำเลยนำไปขอออก น.ส.3 ก. นั้น เป็นที่ดินของโจทก์ข้อเท็จจริงฟังได้ว่า ที่ดินทั้งสองแปลงดังกล่าวเป็นของโจทก์โดยนายประสาทวิทย์สามีโจทก์ซื้อมาจากนางนางแล้วมอบให้นายสุวรรณสามีจำเลยครอบครองทำกินแทน และแม้เนื้อที่รวมกันแล้วจะไม่ตรงตามจำนวนที่ระบุไว้ในสัญญาซื้อขายเอกสารหมาย จ.2 ก็ตามก็ไม่เป็นข้อพิสูจน์ว่าไม่ใช่ที่ดินของโจทก์ ทั้งนี้เพราะเนื้อที่ตามสัญญาซื้อขายเป็นเนื้อที่โดยประมาณเท่านั้น ข้อเถียงของจำเลยที่ว่าที่ดินตาม น.ส.3 เอกสารหมาย จ.4 และ น.ส.3 ก. ตามเอกสารหมาย จ.3 ไม่ใช่ส่วนหนึ่งของแปลงใหญ่ เนื้อที่รวม 70 ไร่ ซื้อมาจากนางนางนั้นจึงฟังไม่ขึ้น เมื่อฟังว่าที่ดินพิพาทเป็นของสามีโจทก์และของโจทก์ร่วมกันโดยสามีโจทก์ซื้อมาจากนางนางและเมื่อซื้อมาแล้วนายประสาทวิทย์สามีโจทก์มอบให้นายสุวรรณครอบครองทำกินแทน แม้ต่อมานางนางจะยื่นคำขอออกน.ส.3 เลขที่ 114 เอกสารหมาย จ.4 ก็เป็นการกระทำภายหลังจากที่นาง นางได้ขายที่ดินพิพาทให้สามีโจทก์และโจทก์ไปแล้วตามเอกสารหมาย จ.1 ดังนี้หาทำให้นางนางกลับเป็นผู้มีสิทธิครอบครองที่ดินพิพาทอีกไม่ เมื่อนางนางไม่มีสิทธิในที่ดินพิพาท ต่อมาแม้นางนางจะได้จดทะเบียนโอนขายที่ดินพิพาทให้นายสุวรรณก็หาทำให้นายสุวรรณมีสิทธิดีไปกว่านางนางผู้โอนไม่ กรณีที่นายสุวรรณกระทำการดังกล่าวถือไม่ได้ว่าเป็นการแย่งการครอบครองโดยเปลี่ยนลักษณะการยึดถือไปยังสามีโจทก์และโจทก์ประการใดที่ดินพิพาทยังคงเป็นของสามีโจทก์และโจทก์โดยนายสุวรรณเป็นผู้ครอบครองแทน สำหรับที่ดินพิพาทตาม น.ส.3 ก. เลขที่ 229เอกสารหมาย จ.3 ที่จำเลยไปขอออก น.ส.3 ก. ในนามจำเลยนั้น ก็มิได้หมายความว่านายสุวรรณหรือจำเลยได้เปลี่ยนลักษณะแห่งการยึดถือไปยังสามีโจทก์หรือโจทก์เช่นกัน ดังนั้น การที่จำเลยครอบครองที่ดินตาม น.ส.3 เลขที่ 114 ก็ดี ตาม น.ส.3 ก. เลขที่ 229 ก็ดี เป็นการสืบสิทธิของนายสุวรรณสามีจำเลย จึงเป็นการครอบครองแทนโจทก์แม้จำเลยจะครอบครองนานเท่าใดก็ไม่ได้สิทธิครอบครองที่ดินพิพาทยังคงเป็นของโจทก์ ที่จำเลยฎีกาว่าโจทก์ไม่ได้ฟ้องเรียกเอาที่ดินคืนภายใน 1 ปีนั้น พิเคราะห์แล้ว เห็นว่า ขณะที่จำเลยครอบครองที่ดินพิพาทไม่ปรากฏว่า จำเลยได้เปลี่ยนแปลงลักษณะแห่งการยึดถือในที่ดินพิพาทไปยังโจทก์ การที่โจทก์แถลงคัดค้านในคดีแพ่งหมายเลขแดงที่ 227/2528 ของศาลชั้นต้นว่า ได้ทวงถามนายสุวรรณถึงที่ดินพิพาทนายสุวรรณผัดวันประกันพรุ่งอยู่เสมอนั้น ถือไม่ได้ว่านายสุวรรณได้เปลี่ยนลักษณะแห่งการยึดถือที่ดินพิพาทไปยังโจทก์แล้ว ดังนั้นจำเลยจะอ้างว่าโจทก์ไม่ฟ้องเพื่อเอาคืนที่ดินพิพาทภายใน 1 ปี ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 1375 หาได้ไม่ ฎีกาจำเลยฟังไม่ขึ้น แต่ที่ศาลอุทธรณ์พิพากษาให้เพิกถอนนิติกรรมการจดทะเบียนการขายที่ดินพิพาทน.ส.3 เลขที่ 114 ระหว่างนางนาง ปัสทิสามะ กับนายสุวรรณ สุริยวงษ์ เมื่อวันที่ 25 กรกฎาคม 2509 นั้น เป็นการเกินคำขอและเป็นการกระทบสิทธิของนางนางซึ่งเป็นบุคคลภายนอกคดีเป็นเรื่องโจทก์ต้องไปดำเนินการเอง จึงสมควรแก้ไขเสียให้ถูกต้อง"
พิพากษาแก้เป็นว่า ไม่เพิกถอนนิติกรรมการจดทะเบียนซื้อขายที่ดินพิพาทตาม น.ส.3 เลขที่ 114 ระหว่างนางนาง ปัสทิสามะกับนายสุวรรณ สุริยวงษ์ นอกจากที่แก้คงให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์
( จเร อำนวยวัฒนา - ก้าน อันนานนท์ - เทพฤทธิ์ ศิลปานนท์ )
ป.พ.พ. มาตรา 456, 1367,
มาตรา 456 การซื้อขายอสังหาริมทรัพย์ ถ้ามิได้ทำเป็นหนังสือและจดทะเบียนต่อพนักงานเจ้าหน้าที่เป็นโมฆะ วิธีนี้ให้ใช้ถึงซื้อขายเรือมีระวางตั้งแต่ห้าตันขึ้นไป ทั้งซื้อขายแพและสัตว์พาหนะด้วย
สัญญาจะขายหรือจะซื้อ หรือคำมั่นในการซื้อขายทรัพย์สินตามที่ระบุไว้ในวรรคหนึ่ง ถ้ามิได้มีหลักฐานเป็นหนังสืออย่างหนึ่งอย่างใดลงลายมือชื่อฝ่ายผู้ต้องรับผิดเป็นสำคัญ หรือได้วางประจำไว้หรือได้ชำระหนี้บางส่วนแล้ว จะฟ้องร้องให้บังคับคดีหาได้ไม่
บทบัญญัติที่กล่าวมาในวรรคก่อนนี้ ให้ใช้บังคับถึงสัญญาซื้อขายสังหาริมทรัพย์ซึ่งตกลงกันเป็นราคาสองหมื่นบาท หรือกว่านั้นขึ้นไปด้วย
มาตรา 1367 บุคคลใดยึดถือทรัพย์สินโดยเจตนาจะยึดถือเพื่อตน ท่านว่าบุคคลนั้นได้ซึ่งสิทธิครอบครอง
ป.วิ.พ. มาตรา 143, 145
มาตรา 143 ถ้าในคำพิพากษาหรือคำสั่งใด มีข้อผิดพลาดเล็กน้อย หรือข้อผิดหลงเล็กน้อยอื่น ๆ และมิได้มีการอุทธรณ์หรือฎีกาคัดค้าน คำพิพากษาหรือคำสั่งนั้น เมื่อศาลที่ได้พิพากษาหรือมีคำสั่งนั้นเห็น สมควรหรือเมื่อคู่ความที่เกี่ยวข้องร้องขอ ศาลจะมีคำสั่งเพิ่มเติมแก้ไข ข้อผิดพลาดหรือข้อผิดหลง เช่นว่านั้นให้ถูกก็ได้ แต่ถ้าได้มีการอุทธรณ์ หรือฎีกาคัดค้านคำพิพากษาหรือคำสั่งนั้น อำนาจที่จะแก้ไขข้อ ผิดพลาดหรือข้อผิดหลงนั้น ย่อมอยู่แก่ศาลอุทธรณ์หรือศาลฎีกา และแต่กรณี คำขอให้แก้ไขข้อผิดพลาดหรือข้อผิดหลงนั้น ให้ยื่นต่อ ศาลดังกล่าวแล้ว โดยกล่าวไว้ในฟ้องอุทธรณ์หรือฎีกา หรือโดยทำ เป็นคำร้องส่วนหนึ่งต่างหาก
การทำคำสั่งเพิ่มเติม มาตรานี้ จะต้องไม่เป็นการกลับหรือแก้ คำวินิจฉัยในคำพิพากษาหรือคำสั่งเดิม
เมื่อได้ทำคำสั่งเช่นว่านั้นแล้ว ห้ามไม่ให้คัดสำเนาคำพิพากษาหรือ คำสั่งเดิม เว้นแต่จะได้คัดสำเนาคำสั่งเพิ่มเติมนั้นรวมไปด้วย
มาตรา 145 ภายใต้บังคับบทบัญญัติแห่งประมวลกฎหมายนี้ว่า ด้วยการอุทธรณ์ฎีกาและการพิจารณาใหม่ คำพิพากษาหรือคำสั่งใด ๆ ให้ถือว่าผูกพันคู่ความในกระบวนพิจารณาของศาลที่พิพากษาหรือมี คำสั่งนับตั้งแต่วันที่ได้พิพากษาหรือมีคำสั่งจนถึงวันที่คำพิพากษาหรือ คำสั่งนั้นได้ถูกเปลี่ยนแปลง แก้ไข กลับหรืองดเสีย ถ้าหากมี
ถึงแม้ศาลจะได้กล่าวไว้โดยทั่วไปว่าให้ใช้คำพิพากษาบังคับแก่ บุคคลภายนอก ซึ่งมิได้เป็นคู่ความในกระบวนพิจารณาของศาล ด้วยก็ดี คำพิพากษาหรือคำสั่งนั้นย่อมไม่ผูกพันบุคคลภายนอก เว้นแต่ที่บัญญัติไว้ใน มาตรา 142(1) มาตรา 245 และ มาตรา 274 และในข้อต่อไปนี้
(1) คำพิพากษาเกี่ยวด้วยฐานะหรือความสามารถของบุคคล หรือคำพิพากษาสั่งให้เลิกนิติบุคคล หรือคำสั่งเรื่องล้มละลายเหล่านี้ บุคคลภายนอกจะยกขึ้นอ้างอิง หรือจะใช้ยันแก่บุคคลภายนอกก็ได้
(2) คำพิพากษาที่วินิจฉัยถึงกรรมสิทธิ์แห่งทรัพย์สินใด ๆ เป็นคุณแก่คู่ความฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งอาจใช้ยันแก่บุคคลภายนอกได้ เว้นแต่บุคคลภายนอกนั้นจะพิสูจน์ได้ว่าตนมีสิทธิดีกว่า
ข้อควรจำ * ที่ดินที่มีหนังสือรับรองการทำประโยชน์ไม่ว่า น.ส. 3 หรือ น.ส. 3 ก เมื่อเจ้าของหรือผู้มีสิทธิครอบครองที่ดินดังกล่าวขายให้แก่ผู้ซื้อคนแรกซึ่งได้เข้าครอบครองทำประโยชน์แล้ว แต่มิได้จดทะเบียนโอนต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ แล้วเจ้าของเดิมได้นำที่ดินดังกล่าวไปจดทะเบียนโอนขายให้แก่ผู้ซื้อคนหลังโดยสุจริตเสียค่าตอบแทนและจดทะเบียนสิทธิโดยสุจริต ปัญหาว่าระหว่างผู้ซื้อคนแรกซึ่งได้ไปซึ่งสิทธิครอบครองกับผู้ซื้อคนหลังที่ได้ไปโดยทางทะเบียนโดยสุจริตเสียค่าตอบแทนและจดทะเบียนสิทธิโดยสุจริต ใครจะมีสิทธิในที่ดินดีกว่ากัน
เดิม มี คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 523/2535 และ ที่ 401-4002/2548 วินิจฉัยว่าผู้ซื้อคนแรกซึ่งได้ไปซึ่งสิทธิครอบครองมีสิทธิดีกว่า โดยนำหลักผู้รับโอนไม่มีสิทธิดีกว่าผู้โอนมาใช้บังคับแก่กรณีนี้ แต่ต่อมามี คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2512/2549 วินิจฉัยว่า ผู้ซื้อคนหลังซึ่งได้ที่ดินโดยจดทะเบียนมีสิทธิดีกว่าผู้ซื้อคนแรกซึ่งได้ไปโดยการครอบครองอันเป็นการได้ทรัพยสิทธิเกี่ยวกับอสังหาริมทรัพย์โดยทางอื่นนอกจากนิติกรรมซึ่งยังมิได้จดทะเบียน ย่อมจะยกขึ้นเป็นข้อต่อสู้ผู้ซื้อคนหลังซึ่งเป็นบุคคลภายนอกผู้ได้สิทธิมาโดยเสียค่าตอบแทนและโดยสุจริตและได้จดทะเบียนสิทธิโดยสุจริตแล้วตามมาตรา 1299 วรรคสองไม่ได้
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 523/2535
ป. ขายที่พิพาทซึ่งเป็นที่ดินมีหนังสือรับรองการทำประโยชน์(น.ส.3 ก.) ให้แก่จำเลยก่อนแล้ว โดยให้จำเลยเข้าครอบครองและมอบหนังสือรับรองการทำประโยชน์สำหรับที่พิพาทให้จำเลย จึงเป็นการโอนการครอบครองให้แก่จำเลยไปแล้ว ป. ไม่มีสิทธินำที่ดินไปจดทะเบียนโอนขายให้แก่โจทก์อีก โจทก์จึงไม่มีสิทธิใด ๆ ในที่พิพาท จำเลยมีสิทธิดีกว่า
โจทก์ฟ้องว่า โจทก์เป็นผู้มีสิทธิครอบครองที่ดินตามหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส.3 ก.) เลขที่ 504 โดยซื้อมาจากนายปัน ปริญญา เมื่อวันที่ 14 พฤษภาคม 2530 ระหว่างวันที่ 21พฤษภาคม 2530 จนถึงวันฟ้อง จำเลยบุกรุกเข้าไปสร้างกระท่อมและล้อมรั้ว ขอให้บังคับจำเลยและบริวารออกไปจากที่พิพาทและใช้ค่าเสียหาย
จำเลยให้การว่า จำเลยซื้อที่พิพาทจากเจ้าของเดิมเมื่อ7-8 ปี มาแล้ว ได้เข้าครอบครองทำประโยชน์โดยสงบและเปิดเผยตลอดมาจนถึงปัจจุบัน นายปัน ปริญญา ไม่มีสิทธิขายที่พิพาทให้โจทก์ ขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยและบริวารออกไปจากที่ดินตามหนังสือรับรองการทำประโยชน์ เลขที่ 504 กับให้ชดใช้ค่าเสียหายให้โจทก์ คำขออื่นนอกจากนี้ให้ยก ศาลอุทธรณ์ภาค 2 พิพากษากลับให้ยกฟ้องโจทก์ โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า "ข้อเท็จจริงฟังได้ในเบื้องต้นว่าที่พิพาทเป็นของนายปัน ปริญญา เดิมมี น.ส.3 แต่ต่อมาเปลี่ยนเป็น น.ส.3 ก. เอกสารหมาย จ.1 มีชื่อนายปัน เป็นผู้มีสิทธิครอบครอง จำเลยได้เข้าครอบครองทำกินในพื้นที่พิพาทตั้งแต่ประมาณปี 2520-2525 จนถึงปัจจุบัน พร้อมกับได้รับมอบหนังสือรับรองการทำประโยชน์มาจากนายปัน แล้วจำเลยได้แผ้วถางและปลูกลำใยเต็มไปหมดไม่น้อยกว่า 50 ต้น มีผลแล้วเมื่อปี 2529 นายณรงค์ ประเสริฐยา บุตรเขยของจำเลยได้กู้เงินนางสาวละออ ทรัพย์ยิ่ง และนำหนังสือ น.ส.3 ก. ของที่พิพาทไปมอบไว้แก่นางสาวละออ ต่อมาเมื่อปี 2530 ได้มีการจดทะเบียนโอนขายที่พิพาทให้แก่โจทก์ โจทก์จะเข้าครอบครองที่พิพาท จำเลยไม่ยอม พยานหลักฐานของจำเลยในข้อนี้จึงมีน้ำหนักยิ่งกว่าพยานโจทก์ คดีฟังได้ว่านายปันขายที่พิพาทให้แก่จำเลยก่อนแล้วโดยให้จำเลยเข้าครอบครองและมอบหนังสือรับรองการทำประโยชน์สำหรับที่พิพาทให้แก่จำเลย มิใช่มอบให้ทำกินต่างดอกเบี้ย จึงเป็นการโอนการครอบครองให้แก่จำเลยไปแล้ว นายปันไม่มีสิทธินำที่ดินไปจดทะเบียนโอนขายให้แก่โจทก์ โจทก์ผู้ซื้อจึงไม่มีสิทธิใด ๆ ในที่พิพาท จำเลยมีสิทธิดีกว่า คำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 2ชอบแล้ว"
พิพากษายืน
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2512/2549
ที่ดินพิพาทเป็นที่ดินมือเปล่า เพราะหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส.3 ก.) เลขที่ 1989 มิใช่หนังสือสำคัญแสดงการกรรมสิทธิ์บุคคลจะพึงมีสิทธิเหนือที่ดินพิพาทคงมีแต่สิทธิครอบครอง แม้โจทก์จะได้สิทธิครอบครองในที่ดินพิพาทแต่การได้มาของโจทก์เป็นการได้มาซึ่งทรัพยสิทธิอันเกี่ยวกับอสังหาริมทรัพย์โดยทางอื่นนอกจากทางนิติกรรมซึ่งถ้ายังมิได้จดทะเบียน โจทก์จะยกขึ้นเป็นข้อต่อสู้จำเลยที่ 2 ซึ่งเป็นบุคคลภายนอกผู้ได้มีสิทธิมาโดยเสียค่าตอบแทนและโดยสุจริตและได้จดทะเบียนสิทธิโดยสุจริตแล้วหาได้ไม่ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1299 วรรคสอง จำเลยที่ 2 จึงเป็นผู้สิทธิในที่ดินพิพาท
โจทก์ฟ้องว่า จำเลยที่ 1 เป็นเจ้าของมีสิทธิครอบครองที่ดินพิพาทตามหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส.3 ก.) เลขที่ 1989 ต่อมาปี 2530 จำเลยที่ 1 ขายและส่งมอบการครอบครองที่ดินพิพาทให้แก่นางสุข หงส์ทอง โดยมิได้จดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์ นางสุขครอบครองที่ดินพิพาทโดยเจตนาเป็นเจ้าของเกิน 1 ปีแล้ว วันที่ 28 มกราคม 2536 นางสุขขายที่ดินพิพาทให้แก่โจทก์ในราคา 10,000 บาท พร้อมทั้งส่งมอบการครอบครองแก่โจทก์ด้วย โจทก์ครอบครองทำประโยชน์ในที่ดินพิพาทโดยปลูกบ้านเลขที่ 26 ยุ้งฉางข้าว ไม้ยืนต้น และล้อมรั้วกันเขตไว้โดยเจตนาเป็นเจ้าของ โดยไม่มีผู้ใดโต้แย้งหรือรอนสิทธิเกินกว่า 1 ปี จนถึงปัจจุบัน จึงได้สิทธิครอบครอง เดือนกุมภาพันธ์ 2544 จำเลยที่ 2 แจ้งให้โจทก์ออกไปอ้างว่าที่ดินพิพาทเป็นของจำเลยที่ 2 เนื่องจากได้ซื้อฝากและล่วงเลยกำหนดระยะเวลาไถ่ถอนแล้ว ที่ดินพิพาทจึงเป็นของจำเลยที่ 2 การกระทำของจำเลยทั้งสองเป็นการโต้แย้งสิทธิครอบครองของโจทก์ เพราะจำเลยที่ 1 ไม่มีสิทธิจะนำที่ดินพิพาทไปจดทะเบียนขายฝากให้แก่จำเลยที่ 2 สัญญาขายฝากที่ดินพิพาทจึงเป็นโมฆะ ขอให้พิพากษาว่าที่ดินพิพาทเป็นของโจทก์ ห้ามจำเลยทั้งสองกับบริวารเข้าเกี่ยวข้องและให้จำเลยทั้งสองไปจดทะเบียนเพิกถอนการขายฝากที่ดินพิพาทแล้วให้จำเลยที่ 1 จดทะเบียนโอนที่ดินพิพาทมาเป็นของโจทก์ หากจำเลยทั้งสองไม่ปฏิบัติตามให้ถือเอาคำพิพากษาเป็นการแสดงเจตนาแทนจำเลยทั้งสอง และให้จำเลยทั้งสองส่งมอบหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส.3 ก.) เลขที่ 1989 แก่โจทก์
จำเลยที่ 1 ขาดนัดยื่นคำให้การ
จำเลยที่ 2 ให้การและฟ้องแย้งว่า การซื้อขายที่ดินพิพาทระหว่างจำเลยที่ 1 กับนางสุข หงส์ทอง ไม่ได้จดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์จึงตกเป็นโมฆะ จำเลยที่ 1 ยังมีสิทธิครอบครองที่ดินพิพาท นางสุขไม่มีอำนาจขายที่ดินพิพาทให้แก่โจทก์ โจทก์จึงไม่ได้สิทธิครอบครอง การปลูกสร้างบ้านเลขที่ 26 ลงในที่ดินพิพาทเป็นส่วนควบของที่ดินและเป็นของจำเลยที่ 1 จำเลยที่ 2 ได้ที่ดินพิพาทพร้อมสิ่งปลูกสร้างโดยนิติกรรม จดทะเบียนโดยชอบด้วยกฎหมายและโดยความสุจริตเสียค่าตอบแทน โจทก์ไม่อาจอ้างสิทธิโต้แย้งจำเลยที่ 2 ได้ ขอให้ยกฟ้อง และบังคับโจทก์กับบริวารขนย้ายทรัพย์สินออกจากบ้านเลขที่ 26 และที่ดินพิพาทภายใน 30 วัน นับแต่มีคำพิพากษา
โจทก์ให้การแก้ฟ้องแย้งว่า จำเลยที่ 2 ไม่มีสิทธิฟ้องขับไล่โจทก์ออกจากที่ดินพิพาท เพราะจำเลยที่ 1 ขายที่ดินพิพาทให้แก่นางสุข นางสุขครอบครองโดยเจตนาเป็นเจ้าของมาเกิน 1 ปี จนกระทั่งนางสุขขายที่ดินพิพาทให้แก่โจทก์ โจทก์จึงครอบครองต่อมาด้วยเจตนาเป็นของตนเอง โดยไม่มีผู้ใดโต้แย้งคัดค้าน โจทก์จึงไม่มีสิทธิครอบครองในที่ดินพิพาท จำเลยที่ 1 ไม่มีสิทธิที่จะขายที่ดินพิพาทให้แก่จำเลยที่ 2 และจำเลยที่ 2 รับโอนที่ดินพิพาทโดยไม่สุจริต ขอให้ยกฟ้องแย้ง
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยทั้งสองไปจดทะเบียนเพิกถอนนิติกรรมการขายฝากที่ดินพิพาทลงวันที่ 24 มีนาคม 2541 แล้วให้จำเลยที่ 1 โอนทางทะเบียนและส่งมอบหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส.3 ก.) เลขที่ 1089 (ที่ถูก 1989) แก่โจทก์ หากไม่ปฏิบัติตามให้ถือเอาคำพิพากษาแทนการแสดงเจตนาของจำเลยทั้งสอง ห้ามจำเลยทั้งสองและบริวารเข้าเกี่ยวข้องในที่ดินของโจทก์ ยกฟ้องแย้งของจำเลยที่ 2
จำเลยที่ 2 อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 6 พิพากษากลับ ให้ยกฟ้อง ให้โจทก์และบริวารขนย้ายทรัพย์สินออกจากที่ดินพิพาท กับรื้อถอนบ้านเลขที่ 26 ออกจากที่ดินพิพาทภายใน 30 วัน นับแต่วันฟังคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 3
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “คดีนี้ราคาทรัพย์สินหรือจำนวนทุนทรัพย์ที่พิพาทกันในชั้นฎีกาไม่เกิน 200,000 บาท ต้องห้ามมิให้คู่ความฎีกาในข้อเท็จจริงตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 248 วรรคหนึ่ง จึงฎีกาได้แต่เฉพาะในปัญหาข้อกฎหมายเท่านั้น ซึ่งการวินิจฉัยปัญหาเช่นว่านี้ ศาลฎีกาจำต้องถือตามข้อเท็จจริงที่ศาลอุทธรณ์ภาค 3 ได้วินิจฉัยจากพยานหลักฐานในสำนวนตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 238 ประกอบมาตรา 247 โดยศาลอุทธรณ์ภาค 3 ฟังข้อเท็จจริงว่าจำเลยที่ 1 เป็นเจ้าของสิทธิครอบครองที่ดินพิพาทตามหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส.3 ก.) เลขที่ 1989 ซึ่งออกเมื่อวันที่ 6 มีนาคม 2521 ต่อมาจำเลยที่ 1 ขายและส่งมอบการครอบครองที่ดินพิพาทให้แก่นางสุข หงส์ทอง โดยมิได้ทำเป็นหนังสือและจดทะเบียนต่อพนักงานเจ้าหน้าที่วันที่ 28 มกราคม 2536 นางสุขขายและส่งมอบการครอบครองที่ดินพิพาทให้แก่โจทก์ ต่อมาวันที่ 24 มีนาคม 2541 จำเลยที่ 1 จดทะเบียนขายฝากที่ดินพิพาทให้แก่จำเลยที่ 2 มีกำหนด 2 ปี โดยเสียค่าตอบแทนและโดยสุจริต ครั้นครบกำหนดจำเลยที่ 1 ไม่ใช้สิทธิไถ่คืนปัญหาข้อกฎหมายต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์มีว่า โจทก์หรือจำเลยที่ 2 เป็นผู้มีสิทธิในที่ดินพิพาท เห็นว่า ที่ดินพิพาทเป็นที่ดินมือเปล่า เพราะหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส.3 ก.) เลขที่ 1989 มิใช่หนังสือสำคัญแสดงกรรมสิทธิ์บุคคลจะพึงมีสิทธิเหนือที่ดินพิพาทคงมีแต่สิทธิครอบครอง แม้โจทก์จะได้สิทธิครอบครองในที่ดินพิพาท แต่การได้มาของโจทก์ก็เป็นการได้มาซึ่งทรัพย์สิทธิอันเกี่ยวกับอสังหาริมทรัพย์โดยทางอื่นนอกจากทางนิติกรรมซึ่งถ้ายังมิได้จดทะเบียนไซร้ โจทก์จะยกขึ้นเป็นข้อต่อสู้จำเลยที่ 2 ซึ่งเป็นบุคคลภายนอกผู้ได้สิทธิมาโดยเสียค่าตอบแทนและโดยสุจริตและได้จดทะเบียนสิทธิโดยสุจริตแล้วหาได้ไม่ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1299 วรรคสอง จำเลยที่ 2 จึงเป็นผู้มีสิทธิในที่ดินพิพาทที่ศาลอุทธรณ์ภาค 3 พิพากษายกฟ้องโจทก์ ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วยในผล ฎีกาของโจทก์ฟังไม่ขึ้น”
พิพากษายืน
( เรวัตร อิศราภรณ์ - ศิริชัย จิระบุญศรี - ประทีป เฉลิมภัทรกุล )